วันอาทิตย์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

การเวียนว่ายตายเกิด กับ ความเชื่อในพระพุทธศาสนา



ก่อน ที่เราจะพูดถึงเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด ขอให้ทำความเข้าใจคำศัพท์ที่เกี่ยวเนื่องกับการเวียนว่ายตายเกิดเสียก่อน ซึ่งคำเหล่านั้นคือ วัฏสงสาร, สังสารวัฏ หรือ สงสารวัฏ คือ ภพภูมิที่มนุษย์หรือสรรพสัตว์ทั้งหลายต้องเวียนว่ายตายเกิด ตามหลักพระพุทธศาสนากล่าวว่า มีทั้งสิ้น ๓๑ ภูมิ ปอป้าจะไม่นำมาพูดในที่นี้ เพราะไม่ใช่ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับคำถาม

สังสารวัฏ แปล ได้ว่า ความท่องเที่ยวไปในอาการที่เป็นวัฏฏะ คือหมุนเวียนไปเสมือนวงกลม (วัฏฏะ ตามพจนานุกรมแปลว่า วงกลม, การหมุน, การเวียนไป, กลม, เป็นวง)

ส่วนคำว่า สงสารวัฏ หมายถึงการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพภูมิต่าง ๆ ของสัตว์โลก ด้วยอำนาจแห่งกิเลส กรรม วิบาก หมุนวนอยู่เช่นนั้น ตราบเท่าที่ยังตัดกิเลส กรรม และวิบากไม่ได้ (วิบาก แปลว่า ผล, ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วอันทําไว้แต่อดีต)

เรื่อง การเวียนว่ายตายเกิด เป็นสิ่งที่ไม่สามารถพิสูจน์แล้วเอามาอภิปรายให้เห็นกันจะ ๆ ได้ มีแต่เสียงลือเสียงเล่าอ้างกันมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นยุคใดสมัยใด มักจะมีการพูดถึงเรื่องอดีตชาติ และชาติหน้าเสมอ แต่ในพระพุทธศาสนานั้น ชาติ คือความเกิด มีทั้งการเกิดทางสังขาร อย่างที่เราเกิดมาจากท้องของแม่เรา และการเกิดทางจิต

การเกิดทางสังขารนั้น
เมื่อเกิดมาแล้ว เจริญเติบโตไปตามวัย มีเกิด-แก่-เจ็บ และตาย ก็เป็นอันว่าหมดชาติหนึ่งแล้ว แต่การเกิดทางจิตนั้น สามารถเกิดแล้วดับ ดับแล้วเกิดได้เรื่อยไป วันหนึ่ง ๆ เกิด-ดับได้หลายสิบหลายร้อยหน ตราบ ใดที่เรายังไม่สามารถดับให้มันสนิทได้ มันก็ยังมีความทุกข์อยู่เรื่อยไป ที่ทุกข์เพราะเป็นการเกิดของอุปาทานว่าตัวเรา ของเรา เมื่อใดที่การเกิดทางจิตมีขึ้น ย่อมนำมาซึ่งความทุกข์ พระพุทธองค์จึงสอน ให้เรารู้จักตัวทุกข์ หาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ เรียนรู้ที่จะดับทุกข์ และลงมือปฏิบัติให้ทุกข์นั้นหมดไป (อริยสัจสี่) ด้วยการลงมือกระทำเดี๋ยวนี้ ชาตินี้ ไม่ต้องรอถึงชาติหน้า ซึ่งไม่รู้ว่าจะมีชาติหน้าสำหรับเราให้ลงมือปฏิบัติได้อีกหรือเปล่า เรื่องของการเกิด-ดับในจิตนั้น มีรายละเอียดที่น่าสนใจให้ศึกษาอยู่ในปฏิจสมุปบาท อันเป็นหลักธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนา ถ้ามีเวลาอยากให้หามาอ่านกัน จะทำให้เข้าใจพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น

ในพระไตรปิฎก หมวดสังยุตตนิกาย นิทานวรรค กล่าวถึงพระพุทธดำรัสเกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิดไว้ว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเสมือนท่อนไม้ที่โยนขึ้นไปในอากาศ บางครั้งก็ตกลงทางโคน บางครั้งก็ตกลงทางกลาง บางครั้งก็ตกลงทางปลายสัตว์ทั้งหลายผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกมัด วิ่งไป ท่องเที่ยวไปอยู่ บางครั้งก็ไปสู่โลกอื่นจากโลกนี้ บางครั้งก็มาสู่โลกนี้จากโลกอื่น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้ มีที่สุดอันตามไปไม่พบ ไม่ปรากฏเงื่อนเบื้องต้น เบื้องปลาย ของสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกมัด วิ่งไป ท่องเที่ยวไปอยู่ ควรเพื่อจะเบื่อหน่าย คลายกำหนัดในสังขารทั้งปวง ควรที่จะพ้นไปเสีย "

การไม่แน่ใจในการเวียนว่ายตายเกิดว่ามีจริงหรือไม่ ไม่ได้เป็นการบ่งชี้ว่าไม่เชื่อในพระพุทธศาสนาแต่อย่างใด เนื่อง จากหลักของพระพุทธศาสนาไม่ได้มุ่งเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการเวียนว่าย ตายเกิด แต่ชี้ให้เห็นถึงความทุกข์อันเกิดจากการเวียนว่ายตายเกิด สอนให้รู้จักหนทางแห่งการดับทุกข์ทั้งปวง คนส่วนมากมักจะเข้าใจผิด แม้แต่พระสงฆ์บางรูปยังสอนให้คนเข้าใจว่า สวรรค์เป็นสิ่งยอดปรารถนาที่ทุกคนควรจะไปให้ถึง เพราะมันเป็นดินแดนแห่งความสุข สวยงาม หลาย ๆ คนพากันหลงใหลอยากไปสวรรค์จนลืมหลักสำคัญอันเป็นความมุ่งหมายของพระพุทธ ศาสนา คือ
การดับทุกข์

ถ้าเราศึกษาพระพุทธศาสนาด้วยปัญญา จะเห็นและเข้าใจได้ว่า พระพุทธศาสนามีความมุ่งหมายที่จะแก้ไขปัญหา
ต่าง ๆ ของมนุษย์ ให้อยู่อย่างไม่มีทุกข์ คือให้อยู่ในกองทุกข์อย่างมีความสุข และที่สุดพระพุทธศาสนามุ่งหมายที่จะขจัดความทุกข์ให้หมดไปจากมนุษย์นั่นเอง
กล่าว คือ เมื่อเรายังต้องมีชีวิตอยู่อย่างมนุษย์ธรรมดาทั่วไป พุทธศาสนาสอนให้เรามีชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข ท่ามกลางความทุกข์ และความวุ่นวายสับสนในสังคม โดยนำหลักธรรมต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน ส่วนผู้ที่เห็นแจ้งแล้วว่าถึงแม้จะสุขอย่างไร มันก็ยังเป็นทุกข์อยู่ดี พุทธศาสนาก็สอนถึงวิธีดับทุกข์ชนิดไม่เหลือเชื้อ คือดับสนิท หรือนิพพาน ดังนั้น การที่พระพุทธองค์ทรงประกาศพระศาสนานั้น เป็นการประกาศความจริง พร้อมทั้งวิธีที่จะปฏิบัติจนทำให้รู้และเข้าใจถึงความจริงที่ว่า ไม่มีตัวเรา-ของเรา (ท่านพุทธทาสพูดอยู่เสมอ ๆ ว่า ตัวกู-ของกู) เมื่อไม่มีตัวเรา-ของเราแล้ว จะมีชาติ-ภพ หรือการเวียนว่ายตายเกิดได้อย่างไร ทุกสิ่งย่อมเป็นอนัตตา (คือไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน)

อีกสิ่งหนึ่งที่ ได้ยินมากับตัวเองบ่อย ๆ คือ พุทธศาสนามีไว้สำหรับคนที่เบื่อโลกแล้ว ถ้าจะศึกษาพุทธศาสนาจะต้องปลงกับทุกสิ่งรอบกาย ทำนองว่าต้องละจากสังคมรอบด้าน ถ้าจะให้ดีต้องปลีกตัวไปอยู่ป่า ไปบวชอยู่วัด หรือบางคนโดนแซวว่าอกหักรักคุดหรืออย่างไร จึงหันหน้าเข้าวัด อะไรทำนองนั้น ทีนี้คนที่เริ่มจะศึกษาก็เกิดความกลัวขึ้นมา กลัวว่าจะต้องทิ้งสิ่งสวยงาม ความสะดวกสบายทั้งหลาย จะต้องทิ้งครอบครัว กลัวโดนเพื่อนแซว และก็เคยมีบางคนที่เริ่มปฏิบัติธรรมใหม่ ๆ ถามปอป้าว่า เขาจะทำอย่างไรดี เพราะตั้งแต่เข้ามาปฏิบัติธรรม เขาไม่กล้ามีเพศสัมพันธ์กับสามีหรือภรรยาของตัวเอง เพราะกลัวบาป กลัวกายและใจจะสกปรก สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า ยังมีคนเข้าใจในพระพุทธศาสนาผิด ๆ อีกมาก

ขอพูดเรื่องส่วนตัวของตัว เองเล็กน้อยว่า ชีวิตที่ผ่านมาตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยไม้ใกล้ฝั่งอยู่นี้ ได้ดีมีความสุข ครองรักครองเรือน เลี้ยงลูกให้เป็นคนดีได้เพราะพระพุทธศาสนา แม้กระทั่งการประกอบสัมมาอาชีพ ก็อาศัยหลักธรรมของพระพุทธองค์ทั้งสิ้น ศึกษา ปริยัติ นำมาประยุกต์ และลงมือปฏิบัติ ส่งผลให้ครอบครัวและคนรอบข้างร่มเย็น มีความสุข แม้จะอยู่ท่ามกลางพายุชีวิตที่โหมกระหน่ำก็ตาม นาวาชีวิตไม่เคยแตก ไม่เคยล่ม แม้จะมีรูรั่วบ้างเป็นบางครั้ง แต่ก็สามารถผ่านมาได้ด้วยสติและปัญญาอันเกิดมาจากพระธรรมคำสั่งสอนของพระ พุทธองค์ พูดได้เต็มปากเต็มคำว่า โชคดีที่ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ได้มีโอกาสเรียนพระธรรม ปฏิบัติภาวนา ถึงแม้จะตายสักสิบครั้งร้อยครั้ง ก็ไม่เสียดายเลย

หลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ทันสมัยอยู่เสมอ แม้เวลาจะล่วงผ่านมานานกว่า ๒๕๐๐ ปีแล้วก็ตาม ในทำนองเดียวกัน พระพุทธศาสนาได้ชื่อว่า เป็นศาสนาแห่งการบังคับตนเองบนพื้นฐานของความเป็นจริงด้วยเหตุและผล มิใช่ศาสนาแห่งการอ้อนวอน ร้องขอต่อพระเจ้า เราต้องรู้จักบังคับตัวเอง แล้วเราก็จะรู้และเข้าใจด้วยตัวของเราเอง ไม่มีใครมาบอกเล่าให้เราบรรลุธรรม สำเร็จธรรมได้ นอกจากเราต้องปฏิบัติด้วยตัวของเราเอง แต่การปฏิบัตินั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้อย่างถูกต้องว่าแก่นหรือหลักของพระพุทธ ศาสนาคืออะไร

ท้ายที่สุดนี้ อยากบอกทุกท่านว่า เมื่อเรามั่นใจว่าทุกสิ่งในชีวิตของเรานั้น เราคิดดี พูดดี ทำดี สร้างแต่กรรมดีมาตลอด ดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระพุทธองค์ด้วยความรู้ ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ชาติหน้ามีจริงหรือไม่ ไม่ใช่สาระสำคัญ การเชื่อในพระพุทธศาสนานั้น ไม่มีใครรู้ดีมากไปกว่าตัวของเราเอง เพราะมันเป็น ปัจจัตตัง คือวิญญูหรือผู้รู้ พึงรู้เฉพาะตน...ค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น