วันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ยุทธวิธีสลายความโกรธเพื่อให้อภัยทาน



หนีออกจากสภาพที่กำลังโกรธอยู่ถ้าหากเรากำลังถูกคู่กรณีทำให้โกรธเคืองอยู่และจิตรับรู้ว่าความโกรธก่อตัวขึ้นแล้วให้ รีบลุกเดินออกไปจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่เดินหนีจากคู่กรณีที่ทำให้เราโกรธเสียก่อน เพราะการได้อยู่เห็นหน้าค่าตาของคนที่ทำให้เราโกรธก็เท่ากับเป็นการเชื้อเชิญให้ความโกรธเข้าไปในสมองของเรามากขึ้น

หลังจากนั้นควรไปหาที่ที่ทำให้ตนเองสบายใจที่สุด เช่นมุมโปรดของตนเองที่ใช้พักผ่อนหรือ การเข้าห้องน้ำไปล้างหน้าล้างตาให้สดชื่น หรือการทำงานหรือกิจกรรมที่เกี่ยวกับน้ำเพื่อช่วยระบายความโกรธเพื่อให้ความโกรธคลายตัวลง

งดเว้นการทำงานใดๆ ขณะที่กำลังโกรธอยู่โดยเด็ดขาดขณะที่โกรธอยู่เป็นเวลาแห่งการหยุดทั้งกาย ใจ
และการกระทำใดๆทั้งหมด การติดต่องาน การพูดคุย การตกปากรับคำ เซ็นสัญญาอนุมัติหรือการทำงานใดๆ ก็ตามย่อมเป็นไปได้ยากที่จะทำให้มีประสิทธิภาพ ต้องหยุดกายและใจเพื่อตั้งสติจนกว่าร่างกายจะถูกปรับเข้าสู่โหมดรู้ตัวแล้ว หากกำลังทำงานในขณะที่กำลังโกรธอยู่ก็ย่อมมีโอกาสที่จะก่อเกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงได้

งดเว้นการคะนองกาย วาจา ใจ การคะนองกายก็คือ การแสดงออกทางร่างกายว่าฉันกำลังโกรธเช่น
การทุบตีตนเอง ทำร้ายคนอื่น ทำลายข้าวของ โดยต้องกันตัวเองให้ห่างจากของมีคมหรือสิ่งที่จะใช้เป็นอาวุธเช่น ปากกา ปืน ยาพิษ ยานอนหลับ เชือก ฯลฯ พยายามนั่งนิ่งๆ หรือหามุมสงบหลบไปก่อน

การคะนองวาจา ก็คือ การโวยวายใช้ถ้อยคำหยาบคายขึ้นเสียง เพราะจะยิ่งเป็นการเพิ่มขนาด
ให้ความโกรธขยายตัวและเดินเข้าไปในจิตใจได้มากขึ้นเรื่อยๆ คำพูดหยาบคายนั้นเป็นสิ่งที่ระคายโสตประสาทอยู่แล้วยิ่งหากกำลังโกรธอยู่แล้วรวมพลังกับคำหยาบ ก็จะทำให้คำพูดทิ่มแทงใจฝ่ายตรงข้าม
ให้เกิดความพยาบาทต่อกันมากยิ่งขึ้น จนถึงขนาดทำให้ทนไม่ได้บางคนด่าตัวเขายังพอว่า
แต่ถ้าด่าพ่อล่อแม่บุพการีก็ทำให้สติแตกและสร้างความร้าวฉานและความรุนแรงได้มากขึ้นไปอีก

การคะนองใจ ก็คือ การนึกหาวิธีการท้าทายคนที่ทำให้เราโกรธ หรือรีบทำการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง
ในขณะที่กำลังถูกความโกรธครอบงำจนเป็นการประชดคู่กรณี หรือการแสดงท่าทางว่า
ไม่กลัวไม่สะทกสะท้าน ไม่ให้ความสำคัญ หรือการแสดงตนว่าไม่ได้โกรธทั้งๆ ที่กำลังโกรธจนหน้าแดง

อย่าไปเข้าใกล้คนพาลเวลาที่เรากำลังโกรธอยู่เราย่อมต้องการที่ระบายหรือที่ปรึกษา
คนที่จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่ดีก็คือคนที่เรารัก และไว้ใจที่สุด โดยที่เขาหรือเธอควรเป็นคนดีหรือบัณฑิต
ต้องระมัดระวังอย่าได้ไปเข้าใกล้คนพาลที่ชอบยุแยงพวกนายว่าขี้ข้าพลอย
เพราะคนพาลมักจะเห็นความเดือดร้อนทุกข์ใจของคนอื่นเป็นเรื่องสนุก มีแต่จะเออออห่อหมกไปด้วย
และจะสนับสนุนให้ตัวเราได้กระทำการใดๆ ที่ผิดศีลธรรมไปหนักข้อมากยิ่งขึ้น

ย้อนกลับมามองที่สถานภาพของตนเองเมื่อเรากำลังโกรธอยู่ต้องหันกลับมามองตัวเองว่าตนเองนั้นเป็นใครและกำลังทำอะไรอยู่ พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “จงเตือนตนด้วยตนเอง” หมายความว่าหากสติเรายังไม่ขาดผึงด้วยกรรไกรที่ชื่อความโกรธแล้ว ก็ควรมองเข้ามาในจิตใจของตนเองว่าตอนนี้เราเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นครูบาอาจารย์ เป็นผู้บริหาร เป็นนักเขียน เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์เป็นบรรณาธิการ ฯลฯ ซึ่งยังมีหน้าที่อีกหลายอย่างต้องทำอยู่

เมื่อเราสามารถเพ่งมองมายังสถานภาพของตัวเองได้แล้วก็ลองพิจารณาว่า นี่ตัวเราเป็นผู้ที่มีหน้าที่การงานเป็นคนสำคัญถึงขนาดนี้แล้วจะปล่อยให้ความโกรธครอบงำ ปล่อยให้ตัวเองตกหลุมความโกรธเสียแล้วก็ช่างน่าละอาย เราควรที่จะลุกขึ้นดิ้นให้หลุดจากความโกรธ แล้วกลับไปสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด
เพื่อที่จะสร้างสรรค์คุณงามความดีและประโยชน์ให้กับชีวิตของตนเองจะดีกว่า

ไปอาบน้ำชำระล้างร่างกายให้เย็นลง หรือไปอยู่ในสภาพที่ทำให้รู้สึกเย็นการอาบน้ำเป็นวิธีการบรรเทาความโกรธได้ดีน้ำเย็นๆ ก็จะช่วยให้จิตใจเย็นลงได้ระดับหนึ่งเหมือนกับการเอาน้ำแข็งไปเติมในน้ำร้อนในแก้วแม้จะทำให้เย็นไม่ได้แต่ก็ช่วยลดอุณหภูมิน้ำลงได้มาก ขณะที่อาบน้ำกล้ามเนื้อก็จะเกิดการผ่อนคลายจิตใจก็จะผ่อนคลายลงด้วย

จากนั้นก็พาตนเองไปอยู่ในที่สงบอย่างในห้องพระ หรือหน้าหิ้งพระเพื่อมองดูท่านให้เกิดความสงบเย็น
เปรียบเหมือนคนที่กำลังขาดสติแล้วกำลังจะทำความชั่ว พอได้เห็นพระหรือได้กำพระเครื่องไว้ก็จะทำให้ใจเย็นลง สงบลงได้ฉันนั้น

เมื่อสามารถสยบความโกรธได้แล้วก็ฝึกให้อภัยทานแก่คนที่ทำให้เราต้องเจ็บช้ำน้ำใจอย่างมีศิลปะดังนี้

1. ก่อนจะยกโทษให้คนที่ทำผิดให้ เราควรมีการชี้แจงความผิดและชี้ทางออกที่ถูกต้องให้เพื่อป้องกัน
ไม่ให้คนๆนั้นมาทำผิดซ้ำๆ เดิมๆ กับเราอีก ถือเป็นอภัยทานที่เจือด้วยธรรมทานอีกชั้นหนึ่ง

2. ผู้ทำผิดและมาขอให้เรายกโทษให้ เราต้องให้เขาสัญญาว่าจะปรับปรุงตัว หรือบางทีอาจมีการปฏิญาณตนว่าจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ในทางที่ถูกต้อง เพราะหากให้อภัยไปบ่อยๆ โดยไม่คิดอะไร การให้อภัยนั้นก็จะไม่มีคุณค่า

มีตัวอย่างเรื่องเล่าในประเทศญี่ปุ่นกล่าวว่า มีเด็กหนุ่มคนหนึ่งเกเร ติดเหล้า ติดการพนันมากแม่ห้ามอย่างไรก็ไม่ฟังจนปัญญาจะทำให้กลับตัวเป็นคนดีได้ หลวงลุงของเขาซึ่งบวชเป็นพระเซนอยู่ทราบเรื่องรีบเดินทางกลับมายังบ้านน้องสาวและพำนักที่บ้านหลังนั้นหนึ่งคืน

เช้ามาขณะกำลังจะเดินทางกลับ หลวงลุงหารองเท้ามาสวมด้วยด้วยกิริยาอาการงกๆ เงิ่นๆ เจ้าหนุ่มที่เพิ่งฟื้นจากอาการเมาแอ๋กลับจากบ่อนเมื่อใกล้รุ่ง จึงกุลีกุจอเข้าไปช่วยผูกเชือกรองเท้าหลวงลุงยืดตัวขึ้นพลางลูบหัวพร้อมกล่าวว่า

“หลานชาย หลวงลุงต้องขอโทษด้วยที่รบกวนเธอ ดูเอาเถอะคนเราวันหนึ่งก็ต้องแก่เหมือนหลวงลุงนี่แหละพอแก่แล้วทำอะไรก็ไม่สะดวก หูตาฝ้าฟางลงทุกที นี่แค่ผูกเชือกรองเท้ายังต้องพึ่งคนอื่นเลย
หลวงลุงขอโทษเธอจริงๆ นะไม่น่าเกิดมาสร้างภาระให้กับเจ้าหรือใครๆ เลย”

หลวงลุงไม่พูดเปล่า น้ำตาหลวงลุงร่วงพรูลงบนหลังมือเจ้าหลานชาย นาทีนั้นเองชายหนุ่มเริ่มรู้สึกว่าเขาทอดทิ้งหลวงลุงมาเป็นเวลานาน แล้วจิตใจก็เชื่อมโยงไปถึงผู้เป็นแม่ซึ่งต้องคอยเป็นห่วงเป็นใยเขาทุกๆ วัน น้ำตาของหลวงลุงทำให้เขาเกิดสามัญสำนึกถึงความไม่ได้เรื่องของตน จึงบอกว่า

“หลวงลุงครับ ผมต่างหากที่ต้องขอโทษ ผมละเลยทั้งแม่และหลวงลุงมาโดยตลอดจากนี้ไปผมจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ ขอหลวงลุงให้อภัยผมด้วย”

จากนั้นเป็นต้นมา แม่และหลวงลุงก็ได้ลูกชายและหลานคนใหม่ที่เป็นคนดีมาด้วยกุศโลบายในการทำให้หลานชายรู้สึกสำนึกผิดอย่างลึกซึ้งจากหลวงลุงของเขานั่นเอง

การให้อภัยทานที่จะมีผลที่แท้จริงจึงไม่ใช่การบอกว่า “ฉันยกโทษให้นะ” เพียงอย่างเดียวหาก
แต่ต้องมาจากการที่ให้โอกาสคนทำผิดได้เกิดจิตสำนึกขึ้นมาอย่างถ่องแท้ว่าสิ่งทีเขาทำนั้นผิดแล้วอยากเริ่มต้นใหม่ อยากแก้ไขตัวเองการให้อภัยดำเนินไปในลักษณะนี้จึงจะเป็นการให้อภัยในความหมายที่แท้และได้บุญกุศลสูงสุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น