วันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ละการทำบาป ได้บุญยิ่งกว่าให้ทาน


อันว่าการให้ทั้งทานที่เป็นวัตถุทาน ให้เป็นธรรมทาน การยกบุญให้ การโมทนาบุญ
การใช้แรงกายและใจอุทิศทำงานให้เกิดประโยชน์สุขเป็น สาขาบุญที่เกิดจากการทำทานให้รูปแบบที่ต่างกัน การทำบุญให้ได้มากๆ นั้นยังมีการทำบุญที่จัดว่าให้ผลบุญสูงยิ่งกว่าทำทานนั่นก็คือ
การ “เว้นการทำบาปทั้งปวง” หรือการรักษาศีลนั่นเอง

ทำไมการรักษาศีลจึงมีบุญมากกว่าการให้ทาน ?การถือศีลนั้นเรียกว่าเป็นการ“ทำทาน”ที่ยิ่งใหญ่กว่าทานธรรมดา เพราะเมื่อเราตั้งใจถือศีลแม้เพียงศีล 5 ก็เป็นการให้ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความเป็นอยู่และความสุขของผู้อื่นไปด้วย

หากเรารักษาศีลข้อที่ 1 คือการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ให้ดี
หากรักษาศีลได้ดีเราได้ให้ความปลอดภัยในชีวิตของผู้อื่นเป็นทาน ต่างจากคนที่มุ่งเน้นทำทานมากๆ
แต่ยังเว้นการฆ่าไม่ได้ก็ได้ผลบุญน้อยลงไป เช่น การฆ่าสัตว์เพื่อนำเนื้อไปปรุงอาหารถวายพระ
นอกจากจะเสียเงินเสียทอง เสียแรงในการลงมือกระทำแล้ว ยังได้บุญน้อยลงไปอีก
เพราะเป็นการเบียดเบียนให้ได้มาซึ่งบุญ บุญก็ย่อมไม่เกิดขึ้น

ศีลในข้อที่ 2 คือการงดเว้นจากการลักทรัพย์ของผู้อื่น หากเรารักษาได้ ก็แปลว่าเราได้ให้ความปลอดภัยในทรัพย์สินของผู้อื่น คนที่ทำตัวเป็นโรบินฮู้ดปล้นคนรวยมาแจกคนจนแม้จะเป็นการทำทานแต่ก็ยังมีการเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ ผลแห่งการเบียดเบียนทรัพย์สิน ก็จะทำให้มีโอกาสสูญเสียในทรัพย์สินเช่นเดียวกัน ที่มาของทานก็ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมบุญก็เกิดน้อยกว่า

ศีลข้อที่ 3 คือการงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม หากรักษาได้เราก็ได้ให้ทานในเรื่องความปลอดภัยแก่สถาบันครอบครัวคำโบราณมีการกล่าวเปรียบเทียบว่า “เสียทองได้เท่าหัว แต่จะไม่ยอมเสียผัวให้ใคร” นั้นก็แสดงออกให้เห็นว่าต่อให้เราบริจาคทานเป็นทรัพย์สินเงินทองมากแค่ไหน เงินนั้นก็ไม่อาจซื้อความรักที่บริสุทธิ์หรือสามารถซื้อหาความสุขที่เกิดจาการรักใคร่กลมเกลียวกันในครอบครัวได้ ถึงแม้วันนี้จะได้ทำทานมากมายแต่ยังไปประพฤตินอกใจ สามีหรือภรรยาอยู่ ชีวิตก็ไม่มีวันมีความสุข

ศีลข้อที่ 4 คือ การงดเว้นจากการพูดจาไม่ดี ถึง 4 ประการได้แก่ การไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดหยาบคายไม่พูดเพ้อเจ้อ ก็เป็นการให้ทาน 4 อย่างคือ การให้ความจริงใจแก่ผู้อื่น 1 ให้ความอ่อนน้อมถ่อมตน 1 ให้ความประณีตในจิตใจ 1 และ ให้ประโยชน์ที่เกิดจากการพูดและฟังอีก 1 ไปในคราวเดียวกัน
ธรรมชาติของคนย่อมต้องการความจริง ความละเมียดละไมไพเราะ และ การรู้สึกถึงประโยชน์ในสิ่งที่จะได้รับฟัง คนที่ละเมิดศีลข้อ 4 ต่อให้ทำบุญด้วยเงินมากแค่ไหน แต่ยังโกหกหลอกลวงคนอื่น พูดจาให้คนอื่นเสียน้ำใจพูดหยาบคายให้ระคายหู และพูดเพ้อเจ้อทำให้ผู้อื่นเสียเวลา ก็เป็นการสร้างกรรมไม่ดีขึ้นมาใหม่กลบฝังไม่ให้คุณงามความดีที่ได้ทำทานไปให้เกิดผลเต็มที่

หลวงปู่ ดู่ พรหมปัญโญ ครูบาอาจารย์คนสำคัญของเมืองไทยรูปหนึ่งกล่าวถึงกรรมในการสร้างวาจาที่ไม่ดีแก่คนอื่นนั้นเป็นกรรมหนัก เพราะเป็นการทำร้ายจิตใจอาจเป็นการทำลายความหวังที่คนอื่นเขามี ทำให้จิตใจขัดเคืองหม่นหมองซึ่งเป็นอุปสรรคแก่การเกิดบุญทั้งสิ้นอย่าได้พากันกระทำโดยเด็ดขาด

ศีล ข้อที่ 5 ก็คือการงดเว้นการดื่มสุรายาเมา เป็นการให้ความปลอดภัยกับทุกสิ่งทุกอย่างเพราะเมื่อมีสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์แล้ว ย่อมสามารถควบคุมตนเองไม่ให้ไปก่อความเดือดร้อนใดๆได้
ผู้ที่รักษาศีลแม้แค่ศีล 5 ได้จึงได้บุญทั้งจากศีลเองและเป็นผลแห่งทาน จะช่วยชำระล้างจิตใจให้สะอาดมากยิ่งขึ้นและมีพลังอำนาจที่จะดึงดูดเอาสิ่งที่ดีๆ มาสู่ชีวิต

อานิสงส์แห่งการรักษาศีลในบทสวดการสรุปการกล่าวสมาทานศีลเรามักจะได้ยินพระท่านสวดว่า
“...สีเลนะ สุคะติง ยันติ สีเลนะ โภคะสัมปทา สีเลนะ นิพพุติง ยันติ ตัสมา สีลัง วิโสธะเย ฯ...”
แปลความได้ว่า ศีลเป็นเหตุให้ไปสู่สุคติ (สีเลนะ สุคติง ยันติ)
ศีลเป็นเหตุให้ได้โภคทรัพย์ (สีเลนะ โภคะสัมปะทา) ศีลเป็นเหตุให้ถึงพระนิพพาน (สีเลนะ นิพพุติง ยันติ)

อานิสงส์สองอย่างแรกเรียกได้ว่าเป็นอานิสงส์ระดับที่เรียกว่า “สวรรค์สมบัติ” คือได้มาซึ่งความไปสู่สุคติภพได้มาซึ่งทรัพย์สมบัติ และ อานิสงส์อย่างที่สุดท้ายคือเป็น “นิพพานสมบัติ” ซึ่งเป็นอานิสงส์สูงสุดในพระพุทธศาสนา

ผลแห่งการถือศีลนั้นจะให้ผลไปได้อานิสงส์แค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับ ระดับของศีลที่ถือรักษาถือศีล 5 ก็ได้ความสุขมากกว่าคนที่ไม่ได้รักษาศีล ถือศีล 8 ก็ได้ฝึกการละเว้นจากกามารมณ์มีสุขที่ยิ่งกว่าการถือศีล 5
การถือศีล 10 ก็ได้อานิสงส์แห่งการไม่มุ่งโลภในการสะสมทรัพย์และการครอบครองทรัพย์ มากกว่าศีล 8
และการถือศีล 227 ข้อซึ่งเป็นศีลสำหรับพระภิกษุก็เป็นไปเพื่อสร้างบุญกุศลสูงสุดในระดับเป็นพื้นฐานในการบำเพ็ญให้ถึงนิพพาน

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) แห่งวัดญาณเวสกวัน จ.นครปฐม ครูบาอาจารย์ผู้เป็นกำลังสำคัญที่สุดองค์หนึ่งในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในยุคปัจจุบัน ท่านได้กล่าวถึงอานิสงส์แห่งการสมานรักษาศีลในทุกระดับเอาไว้อย่างละเอียดเป็นอย่างยิ่งดังต่อไปนี้ว่า

อานิสงส์แห่งการรักษาศีล 5

1. การไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนกัน มีอานิสงส์ ทำให้เป็นผู้ไม่มีภัย
จิตใจสบายนึกถึงแต่สิ่งที่ดีงาม ทำให้มีอายุยืนและมีสุขภาพดี ไว้ใจได้ซึ่งกันและกันไม่ต้องหวาดระแวง
ทำให้ไม่ต้องมีความกังวลมุ่งหน้าศึกษาเล่าเรียนระกอบอาชีพการงาน พัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า

2. การไม่ลักไม่เอารัดเอาเปรียบกันมีอานิสงส์ ทำให้ไว้ใจกันอยู่กันได้อย่างสงบ นอนตาหลับไม่ต้องคอยระวังโจรผู้ร้ายทรัพย์สินไม่สูญหายมีแต่จะเจริญเพิ่มพูนยิ่งขึ้น งานที่สร้างสรรค์ขึ้นได้ผลอย่างสมบูรณ์
มีคุณภาพดีทำให้การพัฒนาเจริญก้าวหน้าได้เร็วขึ้น

3. การไม่ละเมิดสิ่งที่ผู้อื่นหวงแหน มีอานิสงส์ ทำให้ตนเองก็ไม่มีศัตรู ผู้อื่นก็ไม่หวาดระแวง มีความไว้ใจกันอยู่กันอย่างสงบทำให้ครอบครัวมีความสุข มีความอบอุ่น ผูกพันและเคารพเชื่อฟังกันทำให้เกิดความภาคภูมิใจในเกียรติยศแห่งวงศ์ตระกูลของตน เกิดความสามัคคีไม่มีความสับสนในทางประเพณีที่ดีงามต่างๆ

4. การไม่พูดเท็จจะมีผลทำให้ เป็นที่เชื่อถือรักใคร่ของคนทั่วไปมีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน
ทำให้กิจการงานต่าง ๆดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยและสำเร็จด้วยดี นอกจากนั้นผู้ที่รักษาศีลข้อนี้ได้ดีแล้วจิตใจจะกล้าหาญเข้มแข็งและเชื่อมั่นในตัวเอง

5. ผลแห่งการไม่เสพของมึนเมาและสิ่งเสพติดให้โทษ ก็จะมีผลดีคือไม่เป็นการบั่นทอนสุขภาพและปัญญาไม่สิ้นเปลืองทรัพย์สิน ไม่ก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาทไม่ถูกชักจูงไปในทางที่ชั่วร้าย
ไม่มีภาระกังวลจุกจิกกวนใจโดยใช่เหตุ ไม่มีความประมาท และเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป

อานิสงส์แห่งการรักษาศีล 8
ผลแห่งการรักษาศีลระดับนี้ได้จะเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งไม่ให้ลุ่มหลงในกาม
(เพราะในการถือศีล 8 จะมีศีลข้อ 3 ว่า อะพรัหมะจริยา เวรมณี ที่ให้งดเว้นการยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศโดยสิ้นเชิง)เป็นเครื่องเตือนสติไม่ให้ลืมตัว รู้จักนึกถึงความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ สามารถตัดกังวลจากสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม เป็นการฝึกหัดเอาชนะตนเอง ฝึกให้มีความอดทนและแกล้วกล้าในการปฏิบัติธรรมและเป็นพื้นฐานในการปฏิบัติธรรมในเบื้องสูงขึ้นไป

อานิสงส์แห่งการรักษาศีล 10 
ศีล 10นั้นมีอานิสงส์เช่นเดียวกับศีล 8 แต่มีความยิ่งยวดกว่าและยังมีอานิสงส์เพิ่มเติมขึ้นมาอีก คือ ทำให้เป็นคนมักน้อยสันโดษ ไม่สะสมทรัพย์สมบัติทำให้สำนึกว่า การเป็นอยู่ของตนเองต้องอาศัยผู้อื่น ( ศีลข้อ 10 นั้นให้งดเว้นจากการรับเงินทอง)ทำให้คลายมานะความถือตัวเองลงได้มาก และเป็นการฝึกฝนอบรมตนเพื่อรับการอุปสมบทต่อไป

อานิสงส์แห่งการรักษาศีล 227 พระภิกษุถือเป็นบุคคลที่ต้องครองศีลมากกว่าคนอื่นๆ
ก็เพราะศีลที่ท่านครอบครองได้อย่างดีจะเป็นตัวอย่างในทางที่ดีให้แก่สังคมให้น้อมนำกันมาทำความดี
เพราะหากมีผู้รักษาศีลจำนวนข้อมากๆ ได้ อย่างน้อยก็ต้องมีคนที่จะกล้ารักษาศีลนั้นตาม
แม้จะรักษาได้ไม่เท่ากัน แต่ก็ยังดีกว่าการไม่ถือรักษาศีลใดๆ เลยสักข้อเดียวนอกจากนั้นทำให้พระภิกษุมีความประพฤติดีงามสมฐานะ ทำให้เกิดความสะดวกและเป็นพื้นฐานในการบำเพ็ญธรรมให้เกิดบุญในระดับที่สูงขั้นสูงสุดนั่นก็คือ การเจริญภาวนา

มีคำกล่าวที่น่าสนใจจากในพระไตรปิฎกว่า ผลแห่งการสมาทานรักษาศีลนั้น “เป็นของที่เลิศยิ่งกว่าสมบัติของพระเจ้าจักรพรรดิ” เพราะบรรดาคนที่ร่ำรวยที่สุดในโลกแม้จะได้ชื่อว่าเป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกก็ตามจะมีทรัพย์สินเงินทองมากมายมหาศาลเพียงใด ความร่ำรวยของมหาเศรษฐีเหล่านั้นเมื่อนำไปเปรียบเทียบของสมบัติของพระเจ้าจักรพรรดิแล้วก็เป็นของเล็กน้อย

สมบัติของมหาเศรษฐีทั้งหมดในโลกก็เทียบไม่ได้กับทรัพย์สมบัติของพระเจ้าจักรพรรดิ
(ตาม คติความเชื่อในพระพุทธศาสนา สมบัติของพระเจ้าจักรพรรดินั้นยิ่งใหญ่มาก เป็นผู้ครอบครองทวีปใหญ่ทั้ง 4 และ ทวีปน้อยอีก 2 พันเป็นบริวาร)

แต่ทว่าแม้สมบัติของพระเจ้าจักรพรรดิจะมีมากมายมหาศาลเพียงใด ก็ยังมีไม่ถึงเศษเสี้ยวในเสี้ยวที่ 16 แห่งผลแห่งการถือศีลเพราะเหตุว่าสมบัติของพระเจ้าจักรพรรดิเป็นเพียงสมบัติของ “มนุษย์” ความสุขก็เป็นของมนุษย์เป็นแค่สมบัติหยาบๆ เป็นความสุขหยาบๆ แต่ผลแห่งการถือศีลเป็นเหตุให้ได้สมบัติทิพย์ ความสุขก็เป็นทิพย์

ช่วงระยะเวลาในการเสวยสมบัติของมนุษย์และทิพย์สมบัติก็มีเวลาไม่เท่ากัน ซึ่งการเสวยสมบัติของมนุษย์นั้นอย่างมากที่สุดก็ใช้เวลาไม่เกิน 100 ปีมนุษย์ แต่การเสวยทิพย์สมบัตินั้นมีเวลาเนิ่นนานเหลือเกินโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสมาทานรักษาศีลที่ยิ่งกว่าศีล 5 ได้แล้ว จะได้ความดีที่เป็นความสุขอันเป็นกำไรมหาศาลไม่มีใครติเตียนอะไรได้ เมื่อตายไปแล้วก็ย่อมเข้าถึงสวรรค์แน่นอน

วิธีการถือรักษาศีลให้ได้ผลวิธีการรักษาศีลให้ถูกต้องและให้ได้ผล เราต้องมีการสมาทานศีลก่อน การสมาทานก็คือการรับเอาเข้ามาเพื่อปฏิบัติด้วยการแสดงเจตนาหรือตั้งใจเริ่มด้วยการบอกกล่าวโดยเปล่งวาจาหรือจะว่าในใจก็ได้ การสมาทานศีลหากจะทำอย่างเป็นอย่างทางการแล้ว ก็ทำได้โดยวิธีที่เราไปขออาราธนาศีลและรับสมาทานศีลจากพระภิกษุโดยตรง ซึ่งการสมาทานศีลในรูปแบบนี้นั่นเป็นรูปแบบตามพิธีการจะกระทำเมื่อเวลามีงานบุญ หรือพิธีทางศาสนาต่างๆ โดยพระสงฆ์จะให้ศีลเป็นภาษาบาลี
หากเราต้องการให้ข้อศีลลึกซึ้งเข้าไปในจิตใจเราก็ควรรู้และเข้าใจความหมายหรือคำแปลในศีลแต่ละข้อด้วย

อย่างไรก็ตามการไปรับศีลจากพระโดยทั่วไปนั้น เรามักไม่ค่อยมีโอกาสได้กระทำกันนอกจาการที่ไปทำบุญที่วัดจิตก็เลยอาจจะไม่ได้ระลึกถึงศีลอยู่อย่างสม่ำเสมอ วิธีการที่สะดวกที่สุด ให้เราสามารถตั้งใจสมาทานศีลเองโดยกระทำในที่พักอาศัยหรือบ้านของเราก็ได้ โดยกระทำต่อหน้าพระรัตนตรัย ( ทำเอง ณ เบื้องหน้า หิ้งพระหรือโต๊ะหมู่บูชา ถ้าไม่มี ก็ให้ตั้งจิตเอาเองก็ได้ ในสถานที่อันควร) และควรสมาทานศีลให้ได้ ทั้งเช้าและ ค่ำ

กระบวนการสมาทานศีลใช้เวลาแค่ไม่ถึง 5 นาที แต่เกิดผลดีมหาศาลต่อชีวิตเป็นการให้คำมั่นสัญญาในชีวิตว่าเราจะไม่ทำความชั่ว แค่ 5 นาทีในแต่ละครั้งในทุกวัน คนที่อยากมีความสุขความเจริญย่อมสามารถทำได้โดยไม่มีเงื่อนไขแน่นอน เพียงแค่ศีล 5 ให้ปกติก็เพียงพอสำหรับชีวิตคนธรรมดาแล้ว

การกล่าวสมาทานศีลด้วยตนเองแบบง่ายๆนะโม 3 จบ แล้วกล่าวว่า
ปาณาติปาตา เวระมะณี วันนี้ ข้าพเจ้าจะไม่ฆ่าสัตว์
อะทินนาทานา เวระมะณี วันนี้ ข้าพเจ้าจะไม่ลักทรัพย์
กาเมสุมิจฉาจารา เวระมะณีวันนี้ข้าพเจ้าจะไม่ประพฤติล่วงประเวณีกับผู้ใดที่ไม่ใช่คู่ครองของข้าพเจ้า
มุสาวาทา เวระมะณี วันนี้ ข้าพเจ้าจะไม่พูดเท็จ
สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี วันนี้ข้าพเจ้า จะไม่ดื่มสุรายาเมาทุกชนิด

หลังจากสมาทานศีลแล้วก็ควรตั้งใจไว้ว่าจะรักษาศีลให้ดีที่สุดในแต่ละวัน เริ่มในเวลาเช้า เมื่อตื่นนอนรู้สึกตัวก็ให้ทำเลย ก่อนที่จะไปทำงานหรือไปศึกษาเล่าเรียน ทำภารกิจประจำวันต่าง ๆ ส่วนในเวลาค่ำ
ก็ให้ทำก่อนนอนทุกๆวัน ในระหว่างวัน ถ้ารู้ตัวว่าละเมิดศีล ผิดศีลในข้อใดข้อหนึ่ง ให้รีบสมาทานศีลใหม่
หมดทุกข้อทันที และก่อนที่จะสมาทานศีลในตอนค่ำนั้น ให้เราตรวจดูศีลอีกครั้งหนึ่ง

หากเห็นว่าสมบูรณ์บริบูรณ์ดีแล้ว ก็โมทนาสาธุให้กับตนเอง และขอน้อมถวายบุญกุศลอันเกิดจากการที่เรารักษาศีลมาได้สมบูรณ์ดีแล้วในวันนี้ ก็ทำการบูชาพระรัตนตรัย อธิษฐานให้ผลบุญนี้เป็นพละ(กำลัง) ปัจจัยให้เราประสบความสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนา (จะเป็นเรื่องประพฤติปฏิบัติ และหรือสิ่งที่เราปรารถนาอันชอบธรรมก็ว่าไป)

แต่ถ้าหากตรวจดูแล้วเห็นว่าข้อศีลเราบกพร่องผิดพลาดในศีลไป ก็ให้อโหสิกรรม (ยกโทษ) ให้กับตนเองไม่ต้องไปเสียใจหรือวิตกกังวลกับสิ่งที่ผิดพลาดบกพร่องไปแล้ว และให้ตั้งใจว่าในครั้งต่อไป
วันต่อไป เราจะทำให้ดีที่สุด ในการรักษาศีล และพยายามระมัดระวังไม่ให้มีการผิดพลาดบกพร่องขึ้นอีก
ให้หมั่นทำหมั่นตรวจสอบเป็นประจำทุกวัน

เมื่อทำอย่างนี้เป็นประจำทุกวันแล้ว ศีลของเราก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ จนเรามีศีลมั่นคง ซึ่งเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของอริยบุคคลขั้นต้น (พระโสดาบัน) การมีศีลมั่นคง ก็คือ จะไม่มีการผิดหรือละเมิดศีล (ศีล 5หรือศีล 8 ) อีกต่อไปตลอดชีวิตไม่ว่าจะมีอะไรมากระทบ บีบคั้นอย่างไร ก็ไม่อาจจะไปละเมิดศีลหรือผิดศีลได้ จนแม้กระทั่งสามารถยอมสละชีวิตได้เพื่อไม่ให้ผิดศีล เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วจะได้มีการสมาทานศีลหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่จำเป็นแล้วเพราะศีลได้เข้าไปอยู่ในจิตใจแล้วอย่างแท้จริง เรียกว่ามีสติสมบูรณ์ในศีลแล้วนั่นเอง

หากถามว่า ถ้าเรามุ่งมั่นจะรักษาศีลให้มั่นคงแล้วเราจำเป็นต้องสมาทานศีลอีกหรือไม่ ก็คงตอบได้ว่าจำเป็นเพราะอานิสงส์ของศีลนั้น เกิดจากจิตที่ตั้งใจ (เจตนา) งดเว้นจากการเบียดเบียน การอยู่เฉยๆ
โดยไม่ได้แสดงเจตนางดเว้นจากการเบียดเบียน จึงไม่ได้เป็นการรักษาศีล เป็นแต่เพียงยังไม่ได้ไปผิดศีลเท่านั้นเองดังนั้น จึงยังมิได้รับอานิสงส์ในส่วนของการรักษาศีลแต่อย่างใด

ให้ลองนึกถึงตัวอย่างง่ายๆ เช่น คนเจ็บไข้ได้ป่วยที่นอนอยู่บนเตียงในโรงพยาบาล ที่เขาไม่ได้ระลึกถึงศีลเลยแต่เขาก็ไม่ได้ไปละเมิดศีล หรือทำผิดศีลเลยแม้แต่เพียงข้อเดียว นั่นก็ยังไม่ได้ถือว่าเขาผู้นั้นรักษาศีลหรือถือศีลแต่อย่างใด ก็เพราะเขาไม่ได้มีเจตนาจะงดเว้นจากการเบียดเบียนนั่นเอง การที่จะเป็นผู้ที่มีเจตนางดเว้นจากการเบียดเบียนได้ตลอดเวลาทุกขณะจิตก็ต้องมีวิธีการเพื่อให้จิตระลึกถึงศีลได้ โดยเริ่มต้นจากการสมาทานศีลก่อนนั่นเอง

การรักษาศีล 5 อย่างยิ่งยวดไม่ย่อท้อจะเป็นการเปิดทางให้บุญนั้นส่งผลอย่างเต็มที่ เหมือนเราเป็นเครื่องรับที่มีกำลังบุญกุศลที่เราเพียรทำมาก็จะส่งผลกับชีวิตของเราได้อย่างเต็มที่ทำอะไรก็เจริญ ทำอะไรก็สำเร็จโดยง่ายและจะเห็นได้ว่า ทั้งการกล่าวสมาทานศีลและการพึงรักษาศีลให้ดีนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้เงินเลยแม้เพียงสตางค์แดงเดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น