วันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

คนยากจนที่สุดหากรู้จักทำทานก็รวยได้



การทำทานทำให้คนรวยได้จริง การทำทานไม่ใช่เรื่องของแค่คนรวยๆ อย่างท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเท่านั้นหลายๆ คนอาจมองว่าเพราะเขามีมากเขาจึงทำได้ คนจนๆ จะเอาอะไรไปทำทานเพียงแค่หากินให้พอเลี้ยงปากท้องก็แย่พอแล้ว

ความจริงแล้วคนที่ยากจนนั้นยิ่งต้องทำทานให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้หายจนเพราะยิ่งตระหนี่มากเท่าไหร่
ความตระหนี่ก็จะผลักเอาความร่ำรวยออกไปทำให้ยิ่งจนลงมากกว่าเดิมส่วนคนที่เกิดมายากจนแต่รู้จักทำทานให้ถูกคน ถูกกาล มีจิตยินดีเสมอในการทำทานเขาก็จะสามารถร่ำรวยมีความสุขขึ้นมาได้

ในยุคสมัยของพระพุทธเจ้ากัสสปะ มีชายคนหนึ่งที่ชื่อ “มหาทุคตะ” แปลว่า “ชายที่แสนยากจน”
มีอาชีพเป็นขอทานความยากจนของแกนั้นเรียกได้ว่าจนระดับที่สุดของเมืองเลยก็ว่าได้

วันหนึ่งนายมหาทุคตะก็ได้รับการชักชวนจากบัณฑิตผู้หนึ่งให้ทำบุญกับพระภิกษุสาวกของพระพุทธเจ้าบ้างจะได้เป็นบุญวาสนาติดตัวไปไม่ทำให้ยากจนอีกในภายภาคหน้า มหาทุคตะได้ยินการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าแล้วก็เกิดความรู้สึกยินดีมาก คิดจะทำทานกับพระสาวกของพระพุทธองค์สักรูปหนึ่งก็เลยไปทำการจองพระไว้รูปหนึ่งกับบัณฑิตที่มาชักชวนบัณฑิตก็เห็นว่าจองแค่รูปเดียวจึงไม่ได้จดบันทึกเอาไว้ แล้วก็ไปชักชวนบุคคลอื่นๆ ในหมู่บ้านให้มาร่วมทำบุญกันต่อไปฝ่ายนายทุคตะกับภรรยาเมื่อจองพระได้แล้วก็ไปรับจ้างเขาทำงานด้วยจิตเบิกบานอย่างยิ่งเรียกได้ว่าวันนั้นทั้งวันแทบจะร้องรำทำเพลงทำงานเลยทีเดียว โดยหวังว่าพรุ่งนี้จะได้ถวายข้าวปลาอาหารกับพระดีๆ สักรูปหนึ่งเมื่อทำงานได้เงินมาก็เอาเงินไปเตรียมซื้อของทำกับข้าวไว้เสร็จสรรพ

วันรุ่งขึ้นพอไปหาบัณฑิตเพื่อจะรับพระที่จองไว้ แต่เพราะบัณฑิตหนุ่มไม่ได้จดบันทึกเอาไว้
ก็เลยไม่มีพระให้คนอื่นนิมนต์กันไปหมดแล้ว ทำให้นายทุคตะเสียใจมาก
บัณฑิตหนุ่มก็เลยแนะนำว่าเหลือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่อีกรูปหนึ่งท่านไปนิมนต์เถอะ

พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้มีพระเมตตาและหยั่งรู้แล้วว่าวันนี้จะสงเคราะห์ใครแม้วันนั้นจะมีมหาเศรษฐีพ่อค้าวานิชที่ร่ำรวยหรือบุคคลระดับกษัตริย์จะมารอนิมนต์อยู่ข้างนอกพระคันธกุฎีพระพุทธองค์ก็ยังไม่ออกมาจากที่พำนัก รอจนกว่านายมหาทุคตะมานิมนต์จึงทรงเสด็จออกมาแล้วประทานบาตรให้ทำให้คนอื่นผิดหวังกันไปตามระเบียบนายทุคตะกับภรรยาได้ถวายอาหารรสเลิศชั้นดีกับพระพุทธเจ้าด้วยความช่วยเหลือของพระอินทร์ที่แปลงกายมาช่วยทำอาหารให้อาหารที่ได้ถวายจึงเป็นของดีระดับอาหารทิพย์ เมื่อพระพุทธเจ้าฉันเสร็จก็ตรัสอนุโมทนาและแสดงธรรมเรื่องอานิสงส์การถวายทานด้วยจิตที่ยินดีทั้งก่อนให้ ขณะให้ และหลังทำทานให้ถูกคนถูกกาลแล้วจะมีอานิสงส์มากมายมหาศาล เสร็จแล้วพระพุทธองค์ก็เสด็จกลับ

นายมหาทุคตะเดินไปส่งพระพุทธเจ้าที่พระคันธกุฎี เมื่อกลับมาถึงบ้านของตนเอง
ก็เกิดปาฏิหาริย์ขึ้นที่บ้านคือแก้วรัตนมณีนั้นไหลท่วมบ้านของนายทุคตะชนิดที่ลูกเมียไม่มีที่อยู่กันเลยทีเดียวหากจะเปรียบเทียบในสมัยนี้ก็คือ จู่ๆ เขาก็ถูกหวยระดับร้อยล้านพันล้านบาทในงวดเดียวนั่นเอง

เรื่องนี้เป็นที่ฮือฮามากทุกคนต่างเข้าใจว่าเป็นผลแห่งการถวายทานแด่พระพุทธเจ้าพระราชาในเมืองนั้นทราบเรื่องก็เสด็จมาทอดพระเนตรด้วยตัวเองสั่งให้คนขนแก้วรัตนมณีไปที่ลานประจำเมืองแล้วถามว่าในเมืองนี้มีใครมีทรัพย์สมบัติมากมายเท่านี้บ้างเมื่อไม่มีใครรับพระองค์จึงได้แต่งตั้งให้นายมหาทุคตะ หรือนายมหายากจนคนนั้นให้เป็นเศรษฐีประจำเมือง

มหาเศรษฐีชื่อยาจกคนนี้ก็ทราบดีว่า การที่ตนเองร่ำรวยมหาศาลได้ขนาดนี้เพราะบุญบารมีที่ได้ทำต่อพระพุทธเจ้าจึงไม่ได้ประมาทในการทำบุญตลอดชีวิตก็ยังคงทำบุญให้ทานช่วยเหลือคนยากคนจนเสมอมาจนสิ้นชีวิตและในชาติสุดท้ายก็ได้เกิดมาเป็นบุรุษที่มีชาติตระกูลร่ำรวยในตระกูลอุปัฏฐากพระสารีบุตร
ที่ชื่อว่า “บัณฑิต” และได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่เป็นสามเณรด้วย

ในอดีตชาติของพระมหาสาวกคนหนึ่งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างพระมหากัสสปะก็เป็นคนที่แสนยากจนมาก่อนแต่เพราะรู้จักให้ทานด้วยจิตใจที่มุ่งมั่นเอาชนะความตระหนี่ท่านจึงได้กลายเป็นคนที่ร่ำรวยมหาศาลได้

ในสมัยของพระพุทธเจ้าวิปัสสี ได้มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อมหาเอกสาฎกอาศัยอยู่ในเมืองสาวัตถีเหตุที่ท่านได้ชื่อนี้ก็เพราะผ้าสาฎกสำหรับนุ่งของพราหมณ์นั้นมีผืนเดียวแม้ผ้าของนางพราหมณีผู้เป็นภรรยาก็มีผืนเดียว ทั้งสองคนมีผ้าห่มผืนเดียวเท่านั้นในเวลาไปภายนอกพราหมณ์หรือพราหมณีต้องเปลี่ยนกันห่มผ้าจึงจะสามารถออกนอกบ้านได้ วันหนึ่ง เมื่อเขาประกาศว่าจะมีการฟังธรรมในวิหารโดยพระพุทธเจ้าจะเป็นผู้แสดงธรรมทำให้สามีภรรยาผู้มีผ้าผืนเดียวเกิดความยินดีมาก โดยตกลงกันว่านางพราหมณีจะไปฟังธรรมเวลากลางวันส่วนสามีจะไปฟังธรรมในเวลากลางคืน

เมื่อถึงเวลากลางคืนเอกสาฎกพราหมณ์ก็ได้ไปฟังธรรมต่อหน้าพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า
เมื่อได้ฟังธรรมก็เกิดใจที่ปีติขึ้นมา จึงอยากจะบูชาพระพุทธเจ้าด้วยผ้าห่มของตัวเอง แต่ก็คิดว่า

“ถ้าเราจักถวายผ้าสาฎกนี้ผ้าห่มของนางพราหมณีจักไม่มี ของเราก็จักไม่มีจะทำอย่างไรดีหนอ”
ซึ่งในขณะนั้น จิตของพราหมณ์สองดวงจึงเกิดขึ้น คือจิตที่ประกอบด้วยความตระหนี่พันดวงจิตหนึ่งเกิดขึ้นและเกิดจิตที่ประกอบด้วยศรัทธาดวงหนึ่งเกิดขึ้นอีกต่อสู้กันเป็นเวลานาน

เมื่อพราหมณ์กำลังคิดว่า “จักถวาย หรือ จักไม่ถวายดี” จนเวลาผ่านล่วงเลยไปแม้ช่วงปฐมยาม
มัชฌิมยามนั้นก็ยังตัดสินใจไม่ได้ จนกระทั่งเมื่อถึงปัจฉิมยามจึงตัดสินใจได้สามารถเอาจิตแห่งความศรัทธาเป็นที่ตั้งเอาชนะความตระหนี่ได้แล้วถือผ้าสาฎกไปวางแทบพระบาทของพระพุทธเจ้าจากนั้นได้เปล่งเสียงดังขึ้นสามครั้งว่า“ข้าพเจ้าชนะแล้ว ข้าพเจ้าชนะแล้ว ข้าพเจ้าชนะแล้ว”

ทานของพราหมณ์นั้นให้ผลทันตาเห็นทันที เมื่อพระเจ้าพันธุมราชกำลังทรงฟังธรรมได้สดับฟังเสียงนั้นแล้ว ตรัสบอกอำมาตย์ว่า “พวกท่านจงถามพราหมณ์นั้นดูแล้วมาบอกเราว่า เขาชนะอะไร”

เอกสาฎกพราหมณ์จึงได้ตอบว่า “ เหตุที่ข้ากล่าวเช่นนั้น ขอให้ท่านลองนึกถึงเวลาที่เราไปรบทัพจับศึกแล้วได้ชัยชนะกลับมา ความรู้สึกนั้นประสบชัยชนะนั้นไม่น่าอัศจรรย์หรืออย่างไร ความตระหนี่ที่มีในตัวข้า
เปรียบเหมือนศัตรูที่ยากจะเอาชนะได้ แต่เมื่อข้าตัดสินใจถวายผ้าห่มแด่พระพุทธเจ้าแล้วความรู้สึกชนะหัวใจที่ตระหนี่ก็ได้บังเกิดขึ้น นี่เป็นเรื่องที่อัศจรรย์มากสำหรับข้า ข้าจึงได้กล่าวแสดงชัยชนะเช่นนั้น”

พระราชาได้สดับความนั้นแล้ว ทรงดำริว่า “พราหมณ์ทำสิ่งที่บุคคลทำได้ยาก เราจักทำการสงเคราะห์เขา”จึงรับสั่งให้พระราชทานผ้าสาฎกหนึ่งคู่ให้พราหมณ์ แต่พราหมณ์กลับคิดว่า

“ในเวลาที่ตนเองนั่งนิ่งอยู่พระราชาก็ไม่ได้ถวายสิ่งใดแก่เรา แต่กลับได้ผ้ามาเพราะเรา
กล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณ เราจึงไม่ควรใช้ผ้านี้เพราะอาศัยพุทธคุณ”

เมื่อคิดได้ดังนั้นพราหมณ์จึงได้นำผ้าทั้งสองผืนนั้นไปถวายเป็นทานแด่พระพุทธเจ้าแทนพระราชาจึงรับสั่งให้พระราชทานทำให้เป็นทวีคูณอีก คือ สองคู่ สี่คู่ แปดคู่ สิบหกคู่แต่พราหมณ์ก็ได้ถวายผ้าทั้งหมดให้แก่พระพุทธเจ้าทั้งหมดต่อมาพระราชาจึงรับสั่งให้พระราชทานผ้าสาฎกถึงสามสิบสองคู่แก่เขา

พราหมณ์จึงยอมรับผ้าเพียงสองผืนเป็นครั้งสุดท้ายโดยผืนหนึ่งตนเองจะเอาไว้ใช้อีกผืนจะให้ภรรยาใช้ เพื่อป้องกันไม่ให้ครหาว่าปฏิเสธผ้าเพื่อเรียกร้องผ้าให้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุด

ต่อมาครั้งหนึ่งในฤดูหนาว พระเจ้าพันธุมราชได้พระราชทานผ้ากัมพลแดงซึ่งเป็นผ้าสักหลาดอย่างดี
เพื่อให้พราหมณ์ใช้ห่มเวลาที่จะมาเข้าเฝ้า แต่พราหมณ์กลับคิดว่าผ้าผืนนี้ดีเกินไปไม่เหมาะสมกับร่างกายของตนเอง“ผ้ากัมพลเหล่านี้ไม่สมควรแตะต้องที่สรีระอันบูดเน่าของเรา ผ้าเหล่านั้นสมควรแก่พระพุทธศาสนาเท่านั้น”

พราหมณ์คิดได้ดังนี้จึงได้ขึงผ้ากัมพลผืนหนึ่ง ทำให้เป็นเพดานไว้เบื้องบนที่บรรทมของพระศาสดาภายในพระคันธกุฎี แล้วขึงผืนหนึ่งทำให้เป็นเพดานในที่ทำภัตกิจของภิกษุ
ผู้มารับบิณฑบาตในบ้านของตนเอง

ในเวลาเย็นพระราชาเสด็จไปสู่สำนักของพระศาสดาก็ทรงจำผ้ากัมพลได้แล้วทูลถามว่า “ใครทำการบูชา พระเจ้าข้า”เมื่อพระศาสดาตรัสตอบว่า “พราหมณ์ชื่อเอกสาฎก” ดังนี้แล้ว ทรงดำริว่า“พราหมณ์เลื่อมใสในฐานะที่เราเลื่อมใสเหมือนกัน” จึงได้รับสั่งให้พระราชทานวัตถุทานทุกอย่างที่จำเป็นแก่พราหมณ์นั้นได้แก่ ช้างสี่ ม้าสี่ กหาปณะสี่พัน สตรีสี่ ทาสีสี่ บุรุษสี่ บ้านส่วยอีกสี่ตำบลพร้อมทั้งทรงแต่งตั้งให้พราหมณ์ได้เป็นราชปุโรหิตอยู่ถวายงานใกล้ชิดพระองค์เป็นต้นมา

เอกสาฎกพราหมณ์เมื่อสิ้นชีวิตไปแล้วได้เวียนว่ายตายเกิดอีกหลายภพชาติจนกระทั่งชาติสุดท้ายได้มาเกิดเป็นปีปผลิมาณพ ผู้มีฐานะร่ำรวยมหาศาล ซึ่งภายหลังท่านได้ออกบวชเป็นพระมหากัสสปะนั่นเอง
จะเห็นได้ว่าแม้คนที่ยากจนก็มีสิทธิ์ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีได้ เพราะรู้จักการให้ทานคนรวยก็ควรทำทานให้ต่อเนื่องไม่ควรประมาทในทรัพย์สินขณะที่คนจนต้องยิ่งทำเพื่อที่จะได้ละความตระหนี่ออกไปจากใจให้มากที่สุดชีวิตจึงจะเปลี่ยนแปลงจากยากจนกลายเป็นมั่งมีดังตัวอย่างที่ได้ยกไปแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น