วันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ทำจิตให้นิ่ง ทำจิตให้ว่าง เป็นมหาบุญอันยิ่งใหญ่ที่สุด


มาถึงการสร้างบุญแบบที่ไม่ต้องใช้เงินในระดับสูงสุด ได้บุญมากที่สุดนั่นก็คือการชำระจิตให้สะอาดบริสุทธิ์ที่เรียกกันอย่างติดปากว่า “การเจริญภาวนา”

การเจริญภาวนานั้นเป็นการสร้างบุญสะสมไว้ที่ถือได้ว่าได้บุญบารมีมากที่สุด และยิ่งใหญ่ที่สุด
ในพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นแก่นแท้และได้บุญสูงกว่าการสร้างบุญในด้านอื่นๆ เพราะว่าการเจริญภาวนา
เป็นการเน้นระงับการทำความชั่วทาง “ใจ” หรือ จิตที่นึกคิดเอาทั้งสิ้น หากจิตสะอาดคิดดี
ก็จะน้อมลงไปสู่การพูดดี ทำดี ตามไปด้วย

พระพุทธเจ้าตรัสถึงมรรค 8 ข้อที่สำคัญที่สุดก็คือ “สัมมาทิฐิ” เป็นทางแห่งทางพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิง
คือเห็นว่าผลทุกอย่างในโลกเกิดแต่เหตุ ถ้าไม่ก่อเหตุก็ไม่เกิดผลถ้าเราสามารถจะดับที่ต้นเหตุได้ก็จะดับผลได้เช่นกันเมื่อเรามีความเห็นชอบอย่างถูกต้องเที่ยงตรงแล้วเรื่องของการคิดหรือ “ดำริชอบ”
จะมาเองเมื่อมีความคิดชอบแล้วก็จะส่งผลไปยังมรรคผลข้ออื่นๆ ให้ดีตามอำนาจแห่งจิตหรือมโนกรรมนั้นมีตัวอย่างที่น่าสนใจในสมัยพุทธกาลว่า

ในสมัยพุทธกาลมีพระภิกษุรูปหนึ่งเมื่อท่านมรณภาพลงแล้วก็จะมีพระอีกรูปหนึ่งนำจีวรไปใช้
แต่พระพุทธเจ้าทรงห้ามภิกษุนั้นเอาไว้เสียก่อนและรับสั่งว่า พระภิกษุผู้ที่เคยเป็นเจ้าของจีวรนั้น
ได้กลับมาเกิดมาเป็นตัวเล็นเกาะอยู่ที่จีวรที่ท่านได้ซักตากเอาไว้ เพราะจิตของท่านเมื่อกำลังจะมรณภาพลงยังมีความผูกพันอยู่กับจีวรผืนนี้ที่เพิ่งจะได้มาและท่านชอบมาก

หากพระภิกษุรูปใดได้นำจีวรนี้ไปใช้เล็นตัวนั้นก็จะโกรธเพราะท่านยังหวงอยู่ส่งผลให้เกิดบาปกรรมทางใจขึ้นอีก
และท่านก็ไม่อาจจะไปเสวยผลแห่งกรรมดีที่ได้ทำไว้ได้

เพียงจิตที่ขุ่นเคืองแม้เพียงเล็กน้อยเช่นนี้ยังมีอานุภาพมากมายถึงเพียงนี้ พระพุทธองค์จึงสั่งสอนอยู่เสมอว่าให้ทำความดีละเว้นความชั่วและ “ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส” ถือเป็นเรื่องที่ยากเย็นที่สุดในหลักธรรมคำสอนทั้งหมด

นี่คือเหตุผลที่ว่าเหตุใดการเจริญภาวนาซักฟอกจิตให้สะอาดเป็นบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็เพราะ
ใจมีอำนาจแรงเหนือทุกสิ่งนี่เองสัตว์ทั้งปวงจะไปสู่ภพใดก็เป็นเพราะจิตก่อนตายเป็นสุขหรือทุกข์

การเจริญภาวนาเป็นหนทางไปสู่ความสำเร็จในทุกอย่าง จนกระทั่งนำไปสู่นิพพานได้เพราะ
การที่จิตสะอาดจนหมดกิเลสหมดความต้องการทั้งหลายแล้ว ย่อมไม่เหลืออะไรติดเกาะในจิต
จิตก็ว่างเปล่าไม่อาจกลับไปเกิดใหม่ได้อีกหลุดพ้นไปโดยปริยาย หากลำพังเพียงแค่การทำทานหรือรักษาศีลนั้นยังไม่มีบุญบารมีที่มากพอที่จะกำจัดกิเลสได้อย่างสิ้นเชิง พระพุทธองค์กล่าวเปรียบเทียบเอาไว้ว่าแม้จะรักษาศีล 227 ข้อให้ไม่ด่างพร้อยถึง 100 ปีก็สู้การทำสมาธิภาวนาเพียงแค่ชั่วไก่กระพือปีกหรือช้างกระดิกหูไม่ได้

แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องให้เรามานั่งสมาธิเจริญภาวนากันได้เลยทันที นั่งกันแบบยาวๆ
หรือกำหนดจิตเดินจงกรมกันไปทั้งวัน โดยไม่สนใจทำทาน หรือ ไม่เคยรักษาศีลมาเลย
ก็รีบไปนั่งภาวนาหวังจะให้เกิดบุญย่อมเป็นไปไม่ได้ เหมือนคนที่เพิ่งจะเข้าเรียนชั้นอนุบาล
แล้วอยากข้ามขั้นขึ้นไปเรียนชั้นป.6 หรือมัธยมเลย ย่อมไม่สามารถเรียนได้

คนที่เพิ่งจะสร่างเมาจากการดื่มเหล้า เล่นการพนันมา หรือกำลังโกรธ โมโหใครอยู่ จู่ๆ จะจับให้มานั่งสมาธิให้อยู่นิ่งๆ แล้วบอกว่าทำแล้วจะได้บุญก็ย่อมได้บุญยาก ต้องฝึกการให้ทาน รักษาศีลควบคุมกายวาจา ให้สงบนิ่งเรียบร้อยเป็นปกติเสียก่อนจึงจะ “พร้อม” ที่จะเจริญภาวนาให้เกิดผลได้

การเจริญภาวนาการทำสมาธิแบบสมถะภาวนาคือ การกำหนดใจให้นิ่งกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่เป็นอารมณ์เดียวไม่ว่าจะใช้วิธีใดก็ตามขอให้เพียงแต่ใจอยู่นิ่งไม่วอกแวกก็คือเป็นสมาธิ โดยมีลำดับขั้นตอนง่ายๆ ดังต่อไปนี้

ก่อนปฏิบัติสมาธิ ควรถามร่างกายตนเองอยู่เสมอว่า “พร้อมหรือไม่”สภาวะร่างกายของผู้ที่ฝึกปฏิบัตินั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก บางทีเราไปอยู่ในสถานที่ที่พร้อมแล้ว ครูบาอาจารย์ผู้คอยจะให้คำแนะนำก็พร้อมแต่กลับลืมไปว่าสภาพร่างกายของตนเองนั้นพร้อมหรือไม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องดูกันละเอียดมากยิ่งขึ้น ขนาดที่ว่าถ้าผมยาวเกินไปก็ต้องตัดผม เล็บยาวก็ต้องตัดเล็บ ยังไม่ได้อาบน้ำก็ต้องอาบให้เรียบร้อยปวดท้องก็ต้องไปถ่ายให้สุดก่อน หรือแม้แต่เจ็บป่วยก็ต้องรักษาให้หายก่อน

การฝึกปฏิบัติเรามักมองข้ามความพร้อมเหล่านี้ไป บางคนก็เจ็บ บางคนปวด บางคนก็มีไข้
บางคนก็ล้มเจ็บแทบเป็นแทบตายก็พยายามฝืนใจไปปฏิบัติ ครูบาอาจารย์อย่าง หลวงปู่จรัญ ฐิตตธัมโม
แห่งวัดอัมพวัน จ. สิงห์บุรีท่านแนะนำให้คนเราเห็นความสำคัญของร่างกายเสมอว่า

ใครที่ปวดหัวตัวร้อน เครียดเพราะทะเลาะกับสามีภรรยา ท่านจะห้ามไม่ให้ปฏิบัติเลยเหมือนกับการต้องเคลียร์พื้นที่ก่อนจึงจะเอารถมาจอดได้ ถ้ากายและจิตยังไม่พร้อมคือยังไม่สงบก็อย่าเพิ่งทำเพราะเสียเวลาเปล่าต้องรักษาเยียวยากันให้ถึงพร้อมเสียก่อน ถามตัวเองอยู่บ่อยๆ ว่า สบายตัวหรือยังจัดการเรื่องยุ่งยากทั้งกายและใจเรียบร้อยแล้วหรือไม่ รักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วย มึนงงทั้งหลายให้บรรเทาเบาบางเสียก่อน และอย่าให้การฝึกต้องไปบังคับกายจนต้องฝืนทนเพราะยิ่งทำยิ่งแย่และมีสิทธิ์จะป่วยได้ทุกเมื่อ

วิธีการฝึกแบบผสมผสานในชีวิตประจำวันโดยปกติแล้วเวลาที่เราฝึกสมาธิสิ่งที่จะเข้ามารบกวนเราอยู่ตลอดเวลาก็คืออาการทุกข์แบบต่างๆ ทั้งปวดทั้งคัน เจ็บ ความรู้สึกต่างๆ ที่กายแสดงออกมาทั้งหลายจิตก็จะทำการปรุงแต่งไปตามนั้นนับเป็นอุปสรรคที่สำคัญ ครูบาอาจารย์ท่านจึงสอนให้ใช้วิธีการสังเกตกายและอารมณ์ของตนเองเสมอคือการตามดูความรู้สึกแบบ “ดูเฉยๆ” เช่น ถ้ารู้สึกง่วงก็รู้แค่ว่าง่วง หงุดหงิดก็รู้สึกว่าหงุดหงิดสดชื่นก็รู้ว่าสดชื่นเหมือนการไปชมดอกไม้ในสวน
รับรู้ว่าสวยก็พออย่าได้เด็ดดม

วิธีการตามสังเกตอารมณ์คือตามประสาทสัมผัสทั้ง 6 ของตนเองได้แก่
1. เวลาที่เราได้เห็นอะไรก็ให้เพียงสังเกตว่าเรารู้สึกอย่างไร ชอบ ไม่ชอบ หรือเฉยๆ แต่อย่าเพิ่งไปยึดเอาถือเอาในสิ่งนั้น
2. เมื่อหูได้ยินเสียง ให้สังเกตความรู้สึกว่าได้ยินแล้วเป็นอย่างไร หนวกหู รำคาญ หรือ ไพเราะ
3. เมื่อจมูกได้กลิ่นให้สังเกตว่าตนเองรู้สึกอย่างไร รื่นรมกับกลิ่น เหม็นหรือหอม รำคาญ หรือแช่มชื่นให้รับรู้เท่านั้น
4. เมื่อลิ้นได้ชมรสชาติใดๆ ก็ให้สังเกตว่าลิ้นรับรู้รสอะไร เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ขม ฯลฯ
5. เมื่อกายได้จับต้องสัมผัสสิ่งใด ก็ให้สังเกตว่ารู้สึกอย่างไรนุ่มละมุนน่าที่จะทะนุถนอม หยาบกร้าน แข็งอ่อน สังเกตเฉยๆ
6. เมื่อใจมีเรื่องใดเข้ามากระทบหรือเมื่อนึกถึงเรื่องอะไรอยู่ให้สังเกตว่าตนเองรู้สึกอย่างไร

หากลองมาแบ่งกองความรู้สึกต่างๆ ทุกอย่างก็จะถูกแบ่งออกเป็น 3 กอง
คือ1. รู้สึกสุข คือ ยินดีพอใจ ชื่นชม สนุก นุ่ม หอม ไพเราะ ฯลฯ
2. รู้สึกทุกข์ คือ หงุดหงิด ขัดใจ ว้าวุ่น กังวล รำคาญ
3. ความรู้สึกกลางๆ คือ ไม่บวกไม่ลบ เฉยๆ

ไม่ว่าความรู้สึกของเราจะเป็นอย่างไร เข้าข่ายข้อไหนก็ให้ตามรู้เฉยๆ ไม่ต้องไปจัดการความรู้สึกนั้น
แค่รู้เฉยๆ ไม่นานความรู้สึกต่างๆ เหล่านั้นก็จะจางคลายไปเองเหมือนไอน้ำที่เกิดขึ้นแล้วก็ระเหยไป

การฝึกจิตด้วยวิธีนี้เป็นแง่มุมหนึ่งในการฝึกเจริญปัญญา ตามดูตามรู้ทุกเรื่องที่คิด ทุกกิจการที่ทำ ทุกคำพูดที่พูดทุกอิริยาบถที่กำลังเคลื่อนไหว เพียงใช้การสังเกตที่มีปัญญาประกอบอย่างให้ตึงให้หย่อนด้านใดด้านหนึ่งจนเกินไปตามดูให้รู้อย่างธรรมชาติ ก็จะส่งผลให้ตนเองสามารถปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติได้ง่ายขึ้นด้วยหากไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นคนสุดโต่ง ขวางโลก ไม่รู้จักกาลเทศะ คนกำลังคุยกันสบายๆ
แต่เรากลับพูดให้เคร่งเครียด เพ่งดูทุกอย่างให้สุดกู่ตึงไปหมด อย่างนี้ ก็จะมีปัญหา

ผลของการเจริญสมาธิและสตินี้บ่อยๆ จะทำให้พบความสุขที่แท้จริงได้อย่างไร นั่นเป็นเพราะว่า
ความสุขที่ได้จากการเจริญภาวนานั้นเป็นความสุขที่เรียกได้ว่า “ละเอียด” กว่าความสุขทางกายมากมายนักและมีถึง 3 ขั้นคือมีความสุขในปัจจุบัน สุขในโลกหน้า และมีความสุขเป็นที่สุดคือนิพพาน

1. ความสุขในปัจจุบันเมื่อฝึกทำสมาธิได้ในระดับเบื้องต้นเพียงแค่ปล่อยวางใจให้ผ่อนคลายกับเรื่องราวต่างๆได้ก็เกิดผลบุญขึ้นคือ ใจเป็นสุขที่ได้ปล่อยวางได้พบกับความสุขใจขั้นพื้นฐานได้แก่ เมื่อหลับก็เป็นสุขตื่นก็เป็นสุข จะนั่ง นอน ยืน หรือเดิน ไม่ว่าอิริยาบถไหนๆ ก็มีความสุขทั้งสิ้น
สุขไม่ต้องเลือกเวลาและสถานที่เพราะว่าจิตใจของเรานิ่งเป็นสุขแล้ว
คำพระท่านกล่าวว่า “นัตถิ สันติปะรัง สุขัง” สุขอื่นนอกจากหยุดนิ่งนั้นไม่มี

2. ความสุขในโลกหน้าความสุขในระดับขั้นต่อไปคือ เมื่อได้ละจากโลกนี้ไปแล้วจะได้ไปเสวยสุข
ในภพภูมิที่เป็นสุขขึ้นไปในโลกหน้า เพราะการที่เราจะไปสู่ “สุคติ” หรือภพที่ดีนั้น
ขึ้นอยู่กับความหมองหรือความใสของจิตเป็นหลักหากก่อนตายมีจิตใจที่ผ่องใสเป็นสุข ก็มีสุคติเป็นที่ไป
หากก่อนตายจิตมีความขุ่นข้องเป็นทุกข์ก็มี ทุคติเป็นที่ไปตามกฎแห่งกรรม

3. ความสุขอันเป็นนิพพานในระดับความสุขถึงความเป็นนิพพานนั้น ขอให้ฝึกตนอย่างง่ายๆ
ทำตัวให้เหมือนสายลม ที่พัดผ่านภูเขา แม่น้ำ ท้องฟ้า ต้นไม้ใบหญ้าต่างๆ แล้วก็ผ่านไป
เวลานั่งสมาธิก็เช่นเดียวกัน เห็นอะไร รู้สึกอะไรก็เพียงแต่เห็นและรับรู้เฉยๆ ไม่ยึดไม่เครียด ตระหนักรู้แล้วก็ผ่านไป

หากหมั่นเพียรฝึกฝนจนกระทำสำเร็จจนสิ้นกิเลสในภพชาติปัจจุบันก็จะทำให้จิตหลุดพ้น
ไม่ต้องกลับไปเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏอีก อันหมายถึงพระนิพพาน
ซึ่งความสุขแบบนี้มีแต่พระพุทธเจ้ากับเหล่าพระอรหันต์เท่านั้นที่สามารถไปถึงได้

หากเราต้องการที่จะไปถึงความสุขพ้นทุกข์ไปตลอดกาล ในภพชาติปัจจุบันก็ต้องพยายามฝึกฝนไปเรื่อยๆหากไม่ถึงนิพพานในชาตินี้ชาติหน้าก็จะถึงได้แน่นอนต้องหมั่นสะสมบุญบารมีไปและต้องมีเคล็ดวิธีการฝึกสมาธิและการเจริญปัญญาที่ถูกต้องจากผู้ที่รู้จริงเท่านั้น

นอกจากความสุขในสูงสุดที่กล่าวมาแล้วยังมีประโยชน์อื่นๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายมากมาย
เช่นทำให้สุขภาพดีโดยสมาธินั้นมีอำนาจในการระงับความเจ็บปวดจากโรคภัยต่างๆ ช่วยให้นอนหลับได้ง่ายไม่ฝันร้าย มีความมั่นคงทางอารมณ์ มีกำลังใจและความเข้มแข็งที่จะเผชิญเอาชนะอุปสรรคทั้งปวง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น