วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

สิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆที่ดูแลเรานอกจากเทวดา



นอกจากเรื่องความเชื่อเรื่องเทวดาประจำตัวแล้ว ยังมีความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ
นอกเหนือไปจากนี้อีกมากมายที่คนไทยเรานิยมกราบไหว้บูชากันอยู่ แต่ไม่ว่าจะไหว้อะไรก็ตาม
จุดประสงค์ที่เห็นเหมือนกันก็คือ ต้องการความสุข ความสำเร็จ ความปลอดภัย และความเจริญก้าวหน้าด้วยกันทั้งนั้นซึ่งจะขออนุญาตพาท่านไปรู้จักและรู้ว่าสิ่งใดควรบูชาอย่างไร

พระภูมิเจ้าที่คนไทยเรานับตั้งแต่อดีตมีความเชื่อว่า ตามท้องฟ้า, ดิน น้ำ ภูเขา ต้นไม้ และอาคารบ้านเรือน มีผีเจ้าที่เจ้าทาง ปกปักรักษาอยู่ บวกกับความเชื่อทางศาสนาพุทธ และพราหมณ์ฮินดู ทำให้เกิดการพัฒนาพิธีการอัญเชิญผีเจ้าที่เจ้าทาง และสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาประทับในศาล (ศาลพระภูมิ,ศาลเจ้าที่)

เพื่อปกป้องคุ้มครองดูแล รักษาสถานที่บ้านเรือนที่อยู่อาศัย ให้มีความเป็นสิริมงคล เจริญก้าวหน้าในทุกสถานจึงนิยมตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่ ในวันที่ปลูกสร้างบ้านเรือนใหม่

เจ้าพิธีผู้ทำพิธีกรรมตั้งศาลพระภูมิ นั้นเป็นได้ทั้งพระ, พราหมณ์, หรือฆราวาสที่ต้องเป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม ตามคติความเชื่อจากพิธีกรรมพื้นบ้านแต่เดิมมีความเชื่อทางพุทธศาสนา และพราหมณ์ฮินดู
เข้ามาผสมผสานและนำไปพัฒนาเป็นพิธีกรรมพื้นบ้านเพื่อให้เกิดความขลัง และศักดิ์สิทธิ์ขึ้น
แล้วเปลี่ยนคำนำหน้าใหม่ให้ดูดีมีมงคลขึ้นจากคำว่า “ผี” ที่ดีมีคุณธรรม ให้เป็นพระ เช่น พระเสื้อเมือง
พระทรงเมือง หรือพระภูมิ เพราะนับถือว่าเป็นนั่นแม้จะเป็น ผีแต่ก็เป็น ผีระดับชั้นสูง

เรื่องความเชื่อและการบูชาการตั้งศาลพระภูมิ นำแนวคิดมาจากศาสนาพราหมณ์ฮินดูว่า พระอิศวร
หรือพระศิวะทรงมีวิมานประทับอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุเปรียบประดุจมณฑลจักรวาลวิมานของศาลพระภูมิ จึงต้องมีเสาเดียว เปรียบประดุจเขาพระสุเมรุมาศวิมานของพระอิศวร

พระภูมิถือเป็นเทวดาชั้นหนึ่งเหมือนกัน หากในความเชื่อของทางพระพุทธศาสนาก็จะเชื่อว่า
พระภูมิเป็นเทวดาที่เรียกว่า “ภุมมะเทวดา” ที่อาศัยอยู่ตามเนินดิน หรือซุ้มประตู
หรือ “รุกขเทวดา”ที่อาศัยอยู่ตามต้นไม้

ดังนั้นการตั้งศาลพระภูมิตามคติบ้านเรือนของคนไทยจึงมี “เสาเดียว” ส่วนศาลเจ้าที่นั้น เปรียบเสมือนบ้านเรือนชาวบ้านธรรมดาจึงมี 4 เสาเทียบกันแล้วเหมือนการจำแนกการปกครองของเทพ ให้เป็นลำดับส่วนลงไปเหมือน กำนันและผู้ใหญ่บ้าน ส่วนศาลที่อยู่ตามโคนต้นไม้,ทางสามแพ่ง เป็นที่สิงสถิตของวิญญาณเร่ร่อนพเนจรจึงนิยมสร้างศาลให้มี 6 เสา หรือ 8 เสา

แทรกตรงนี้ไว้สักนิดหนึ่งครับ กรณีนี้ผู้เขียนมีความเห็นว่าการจำแนกแบบนี้
จุดประสงค์อีกประการอาจจะเป็นการง่ายต่อการจำแนกชนิดของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องการจะบูชา
ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นและแบ่งระดับของชั้นเทพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีความแตกต่างกัน

นอกจากนี้หากลองสังเกตดูการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ จะต้องมีการกระทำอย่างถูกต้อง
ตามแบบแผนและขั้นตอนให้เคร่งครัด เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ผู้อยู่อาศัย การบวงสรวงเซ่นสังเวย และการตั้งศาลพระภูมิจะกระทำเมื่อปลูกบ้านใหม่หรือย้ายที่อยู่ เพราะเชื่อว่าขั้นตอนการตั้งศาลจะเป็น

“การขับไล่สิ่งอัปมงคลทั้งหลายให้ออกไปจากบ้านแล้วจึงอัญเชิญเทวดาหรือพระภูมิมาสถิติ
ที่ศาลพระภูมิเพื่อปกป้องคุ้มครองเจ้าบ้าน และบริวารให้อยู่เย็นเป็นสุขมีความเจริญรุ่งเรือง”


เพราะถือว่าพระภูมิเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่งของบ้านที่คนในบ้านต้องให้ความเคารพ เรื่องนี้เป็นเรื่องของความเชื่อที่มีมาแต่โบราณครับและทำกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ แล้วถือเป็นจารีตประเพณีอย่างหนึ่งก็ว่าได้ อีกอย่างที่นิยมกราบไหว้บูชาก็คือ ผีบ้านผีเรือน

ครูบาอาจารย์ท่านหนึ่ง ท่านได้เคยกล่าวถึงเรื่องของศาลพระภูมิและพระภูมิเจ้าที่ว่า หากผู้ใดต้องการที่จะพบกับความรุ่งเรืองและความสุข ความกราบไหว้บูชาท่านอย่าได้ขาด ด้วยการปฏิบัติบูชา คือ การทำความดี หมั่นทำบุญกุศลแล้วอุทิศไปให้ท่านเหล่านั้น ซึ่งจะมีผลดีกว่าการนำของเซ่นไหว้ไปวางหน้าศาล เพราะเทวดาเหล่านั้นท่านไม่ได้กิน แต่มดที่อาศัยอยู่แถวนั้นเป็นผู้ที่ได้กินจริง

ท่านแนะนำว่า ถ้าอยากให้เทวดาพระภูมิท่านได้รับ ควรนำอาหารคาวหวานเหล่านั้นไปถวายพระสงฆ์
และอุทิศบุญไปให้ท่านและบริวารของท่าน ซึ่งจะสร้างความพึงพอใจมากกว่า

สำหรับการนำดอกไม้หอมและน้ำสะอาด การดูแลปัดกวาดศาลให้สะอาดเรียบร้อย งามตานั้นก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำ ถือว่าเป็นการยอมรับในอำนาจของเทวดาเหล่านั้น สุดท้ายการตั้งศาลนั้น หากไม่มีที่จริงๆ ก็สามารถตั้งศาลได้ทุกที่ไม่ว่าจะเป็นทิศไหน ยกเว้นใกล้สิ่งอัปมงคลเช่น ห้องน้ำ ที่ทิ้งขยะหรือที่รกร้าง เรื่องเหล่านี้คงเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านที่จะเข้าใจในเรื่องศาลพระภูมิได้ถูกหลักโบราณาจารย์

ผีบ้านผีเรือนความเชื่อในการนับถือผีบ้านผีเรือน เท่าที่ทราบมาก็เป็นวัฒนธรรมส่วนหนึ่ง ที่คนไทยเราได้รับสืบ ทอดมาจากบรรพบุรุษเหมือนกันเพราะด้วยระบบครอบครัวมีความผูกพันกันอยู่มาก (ยิ่งถ้าเป็นชาวไทยเชื้อสายจีนก็ยิ่งแล้วใหญ่) สิ่งใดที่บรรพบุรุษทำไว้ก็จะพากันทำตามเชื่อว่า กระทำแล้วทำให้สังคมหรือบุคคลในครอบครัวปกติสุข

คนไทยเรียกผีบ้านผีเรือนว่า “ผีพ่อเฒ่าเจ้าเรือน”, “ผีพ่อเฒ่าใหญ่” หรือ “ผีเหย้าผีเรือน”
ผีเหล่านี้เป็นผีบรรพบุรุษที่มีความผูกพันใกล้ชิดกับลูกหลานที่เสียชีวิตไปแล้ว เช่น ปู่ย่าตายายทั้งหลายผู้ที่นับถือผีเรือนให้การกราบไหว้อยู่ก็เป็นการแสดงความเคารพและความกตัญญูในอีกรูปแบบหนึ่ง โดยจะทำหิ้ง ขนาด 1-2 ฟุตขึ้นมาเพื่อนำมาวางของใช้ของบรรพบุรุษ เช่นพระห้อยคอ หนังสือ เสื้อผ้าฯลฯ

การไหว้ผีอย่างนี้คนไทยเชื่อว่าถ้าปีใดไม่ทำพิธีเซ่นไหว้ผีบ้าน ผีเรือน ผีบรรพบุรุษ
จะมารบกวนคนในบ้านให้เจ็บป่วย สามีภรรยาก็จะทะเลาะกัน เด็กเล็กจะร้องให้ทั้งคืน
ถ้าครอบครัวใดทำพิธีเซ่นไหว้จะมีแต่ ความสุขความเจริญว่ากันอย่างนั้น

การจัดพิธีกรรมเซ่นไหว้ผีบ้านผีเรือนจึงมักจะให้ผู้สูงอายุที่มีอาวุโสมากที่สุดในบ้านเป็นผู้ทำพิธีด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้สูงอายุมีความหมายต่อลูกหลานเป็นการให้ความสำคัญแก่ผู้ควรเคารพ เป็นการแสดงความกตัญญูต่อทั้งผู้ที่ล่วงลับไปแล้วและผู้ที่ยังอยู่ ผลของการไหว้ผี จะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติทุกคนความรู้สึกโดดเดี่ยวจึงไม่มี ทำให้ลูกหลานมีความกตัญญูต่อบรรพบุรุษของตน สิ่งนี้น่าจะเป็นจุดประสงค์สำคัญที่สุดของการกราบไหว้

การเซ่นไหว้ผีบ้านผีเรือนนี้นิยมกระทำในวันตรุษ,วันสารท,วันเกิดของบรรพบุรุษ,วันเอาข้าวขึ้นยุ้งฉาง,
วันรับขวัญ โดยผู้ที่ทำพิธีจะเลือกเอาวันใดวันหนึ่งทำการเซ่นไหว้ บางบ้านจะเซ่นด้วยอาหารคาวหวาน
ที่บรรพบุรุษชอบ บางบ้านก็เซ่นด้วยหัวหมู,ไก่,หมาก,พลู, ขนม,บุหรี่,เหล้า ดอกไม้
หรือของที่บรรพบุรุษชอบ แล้วจุดเทียนผู้ทำพิธีจะจุดธูปบอก กล่าวผีบ้านผีเรือนว่า

“ลูกหลานเอาของ............(ชื่อบรรพบุรุษ) มาเซ่นไหว้เชิญมารับประทาน
และขอให้คุ้มครอง...........(ชื่อของคนในบ้าน) ให้อยู่ดีกินดีและร่ำรวย"

บางครั้งหากบ้านใดมี คนป่วยหรือมีความทุกข์ ต้องการให้ผีเรือนมาช่วย ก็ อาจจะเซ่นไหว้ และเมื่อหายทุกข์หรือหายป่วย จะต้องเซ่นไหว้หรือแก้บนตามที่บอกกล่าวผีบ้านผีเรือนไว้

จริง ๆแล้วหากมองตามจุดประสงค์หลักที่ทำก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ที่คนเราจะยังให้การนับถือ
พระภูมิเจ้าที่หรือผีบรรพบุรุษเพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูซึ่งเป็นสิ่งที่ดีเสียด้วยซ้ำ บางคนที่ไม่เคยเห็นก็ยังไม่เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้มีจริงและว่ามันผิดไม่น่าจะไปหลงงมงาย หรือทำให้สิ้นเปลืองส่วนคนที่มีความเชื่ออยู่ในเรื่องเหล่านี้อยู่แล้วก็จะเห็นว่ามันถูกเป็นเรื่องที่สมควรทำ

จะเห็นได้ว่า ผู้ที่กระทำพิธีบูชาหรือผู้ที่เป็นผู้ทำหน้าที่ตั้งศาลเป็นเจ้าพิธีข้อแม้ในการจะเป็น ก็ต้องเป็นผู้ดำรงตนอยู่ในศีลธรรมที่สะอาดอยู่เสมอจึงจะเป็นกันได้ถือเป็น อุบายในการดำรงตนให้อยู่ในศีลที่ดีอย่างหนึ่ง ดังนั้นแม้ใน พระพุทธศาสนาจะไม่ได้กล่าว ให้การยอมรับเรื่องเหล่านี้โดยตรงแต่ก็ไม่ได้มีข้อห้ามปรามว่าการกราบไหว้บูชาพระภูมิเจ้าที่ หรือผีบ้านผีเรือนเป็นเรื่องที่ผิดอะไร

การทำบุญสร้างบุญที่สำคัญข้อหนึ่งในหลักการทำบุญของบุญกิริยาวัตถุ 10 ประการข้อที่ว่า บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ (ปัตติทานมัย) ข้อนี้ก็สามารถนำมาใช้ได้และสร้างบุญได้จริง แม้จะเป็นการผสมผสานความเชื่ออื่น ๆ ก็ตาม

จากที่พิจารณาทั้งหมดทั้ง พระภูมิซึ่งเป็นเทวดาระดับหนึ่ง เจ้าที่ก็เป็นวิญญาณ หรือผีบ้านผีเรือนก็คือ
โอปปาติกะที่ยังมีความผูกพันกับผู้ที่อยู่อาศัยในที่แห่งนั้น หากจะทำการบูชาท่านไม่ว่า ใครจะปฏิบัติอย่างไร จุดธูปกี่ดอก หรือถวายเครื่องสังเวยอะไรก็ตามก็ทำไปตามพิธีกรรมและความเชื่อของแต่ละคน

สิ่งสำคัญก็คือ การอุทิศโมทนาบุญไปให้ท่านเหล่านั้น บอกให้ท่านเหล่านั้นทราบ เมื่อท่านทราบแล้วจะได้โมทนาบุญคุณความดีต่อไปแล้วไปเกิดยังภพใหม่ที่สูงกว่า และมีความสุขมากขึ้นไปกว่านี้ ตามหลักการทำบุญของเหล่าเทวดา และโอปปาติกะผู้ไม่มีกายเนื้อที่จะสามารถทำบุญเองได้

สำหรับท่านที่ยังไม่รู้วิธีการบุชาที่ถูกต้องถูกหลักนั้น ขอให้สบายใจได้เพราะต่อไปนี้
จะเป็นเรื่องของเคล็ดวีการบูชาที่ได้ผลแลพิสูจน์มาแล้วตั้งแต่ครั้งโบราณ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น