วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

พลังจิต


พลังจิต (Gsychergy) หมายถึง คลื่นความถี่ของพลังงานความคิด (Pranic Energy) 
ซึ่งเป็นพลังงานไฟฟ้าบวก (Proton) ไฟฟ้าลบ (Electron) ที่เกิดจากต่อมไพเนียล (Pineal Gland)
ที่สมองตอนบน เมื่อบุคคลคิดต่อมนี้ จะสร้างคลื่นความถี่ของความคิดขึ้น คลื่นนี้อาจจะมีมากหรือน้อย
ขึ้นอยู่กับ ขบวนการ ทางความคิด (Thinking Process) นั้น คลื่นนี้จะลอยอยู่รอบๆ ตัวผู้คิด
 เมื่อคิดถึงใคร คลื่นนั้นจะพุ่งตรงไปยัง ต่อมสร้างความคิดของผู้รับนั้น ถ้าผู้รับรับคลื่นความคิดนั้นได้
จะเกิดความคิดเช่นนั้นทันที เรียกว่า เกิดการรับรู้ความคิดของผู้อื่นได้

บุคคลที่มีพลังจิตสูง

         บุคคลที่มี พลังจิต สูงคือ บุคคลที่มีสมาธิดี เช่น มีสมาธิอยู่ในขั้นกลาง
ที่เรียกว่า อุปจารสมาธิ และสมาธิขั้นสูงที่เรียกว่า อัปปนาสมาธิ

การทำงานของ พลังจิต

         จิตจะทำงานได้ จิตต้องมีเครื่องมือคือ ร่างกายที่เป็นอยู่ของจิต
จิตจึงแสดงผลออกมาให้เห็นได้ ส่วนของมันสมอง มีหน้าที่รับคำสั่ง ของจิต
คือ ต่อมใพเนียล (Pinial Gland) ซึ่งเป็นต่อมเล็กๆสีแดงอมเทา รูปกรวย
เป็นส่วนประกอบของปลายประสาท ต่อมนี้ อยู่ใน ส่วนกลางตอนบนของมันสมอง
เมื่อ ต่อมไพเนียล รับคำสั่งของจิตต่อมนี้ จะสร้างเป็นคลื่นความถี่ออกมา
คลื่นความถี่ จะมาก หรือน้อย ขึ้นอยู่กับความคิดนั้น และจะลอยอยู่รอบๆตัวผู้คิด
และคลื่นความถี่นี้ จะวิ่งไปตามประสาทต่างๆ ทั่วร่างกาย

         เพื่อควบคุมการทำงานของอวัยวะนั้นๆ พลังงานไฟฟ้าที่ควบคุมอวัยวะต่างๆ
จะมีกระแสความถี่ต่างกัน ตามหน้าที่ของอวัยวะ และคนนั้นๆ อีกด้วย
เช่น Electron และ Protron ที่ควบคุมการทำงานของ เซลล์เนื้อเยื่อของอวัยวะ ต่างๆ
ทำให้มีการสร้าง และการทำลายของเซลล์ได้ตามปกติ เช่น ทำลายไป 10 เซลล์
ก็จะสร้างขึ้นมาทดแทนเช่นเดิม อวัยวะนั้นจะทำหน้าที่ได้ตามปกติ
สร้างภูมิต้านทานของร่างกาย ให้สูงเป็นปกติ ร่างกายจะแข็งแรงสมบูรณ์

การศึกษา พลังจิต

         ได้มีการค้นคว้าทาง พลังจิต ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
ประเทศไทยเรียกพลังนี้ว่า พลังอำนาจทิพย์ ในต่างประเทศ เช่น ชาวจีนโบราณเรียกว่า
พลังแห่งชีวิต (Life Force Energy) ชาวยุโรป เช่น เยอรมันเรียกว่า พลังงานแม่เหล็กสัตว์
(Animal Magnetism) ชาวรัสเซียเรียกว่า พลังงานชีวภาพ (Bioplasmic Energy) 
นักวิทยาศาสตร์ในกลุ่มประเทศตะวันตกเรียกว่า พลังชีวภาพ (Bio Energy)
หรือ พลังแม่เหล็กไฟฟ้า (Electo Magnetic Force)

         บุคคลที่มีร่างกายแข็งแรงคือ ผู้ที่มีพลังจิตสมบูรณ์ควบคุม อยู่ทั่วทุกส่วนของร่างกาย
ทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น แจ่มใสกระฉับ กระเฉง พลังจิต จะเปล่งเป็นรัศมี ออกโดยรอบ ร่างกาย

ตรงกันข้ามคนป่วย จะมี พลังจิต ควบคุมอยู่ เพียงเล็กน้อย ภูมิต้านทาน ในร่างกาย จะลดต่ำลง
ร่างกายจะอ่อนแอ และจะมีร่างกายที่ปกติ เหมือนเดิมได้ เมื่อได้รับ พลังจิต นั้นๆเพิ่มขึ้น
ดังนั้น พลังจิต จึงเป็นพลังงาน ที่ควบคุมการทำงานของร่างกาย เช่น การหมุนเวียนของโลหิต 
การเจริญเติบโตของเซลล์ หากร่างกายส่วนใด ขาด พลังจิต ร่างกายส่วนนั้น
 จะไม่สามารถทำหน้าที่ใดๆ ได้ตามปกติ หรือร่างกายไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้

พลังจิต ที่ใช้กันทั่วไปมี 3 ลักษณะคือ

1. Telepathy คือ พลังงานแห่งเมตตา พลังนี้ติดต่อกันได้โดยทางจิต
เป็นพลังงานที่ใช้เพื่อการสร้างสรรค์

2. Telkynesys คือ พลังงานที่ใช้บังคับวัตถุให้เคลื่อนที่
หรือใช้เพื่อทำลายวัตถุต่างๆ เป็นพลังงานที่ใช้ เพื่อการบังคับ หรือเพื่อการทำลาย

3. Teleportation คือ พลังงานที่ใช้เพื่อการล่องหนหายตัว
เมื่อใช้พลังงานนี้แล้ว สามารถเดินบนน้ำบนอากาศ หรือเพื่อผ่าน เครื่องกีดขวางได้



พลังจิต ผิดปกติทำให้เจ็บป่วย

         จิตมีอำนาจเหนือร่างกาย ที่เรียกว่า จิตเป็นใหญ่ จิตเป็นประธาน สำเร็จแล้วด้วยจิต
เมื่อจิตมีอำนาจของกรรมครอบงำอยู่ จิตนั้นจะสั่งกาย ซึ่งเป็นเครื่องมือของจิต
ตามอำนาจของกรรมนั้น เช่น จิตมีอำนาจของอกุศลกรรมมาก พลังงานไฟฟ้าที่ออกมา
จะไม่มีความสมดุลย์ทางธรรมชาติ เช่น ทำให้พลังงานไฟฟ้าบวกสูงมาก
พลังงานไฟฟ้าลบสูงมากบ้าง จะมีผลทำให้ระบบการสร้าง
 การทำลายของร่างกายไม่คงที่ ดังนี้

         พลังงานไฟฟ้าบวกสูงมาก จะทำให้การสร้างเซลล์มากกว่าการทำลายหรือเท่าเดิม
แต่รูปร่างโตกว่าเดิม จะเป็นสาเหตุของโรคบวม เนื้องอก เช่น โรคหัวใจ โรคมดลูก
เนื้องอกธรรมดา เนื้องอกมะเร็ง เป็นต้น นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรคมะเร็ง
ได้กล่าวถึง ทฤษฏีเกี่ยวกับมะเร็ง ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดว่า เซลล์มะเร็ง
เกิดขึ้น ในตัวคนเราตลอดเวลา แต่ถูกทำลายโดย เซลล์เม็ดเลือดขาว 
ก่อนที่มันจะโตจนก่อพิษภัยแก่ร่างกาย โรคมะเร็ง เกิดขึ้นต่อเมื่อ ระบบภูมิคุ้มกัน
 ถูกกดดันการทำงานไว้ ทำให้ไม่สามารถขจัด เซลล์มะเร็ง ที่ก่อตัวขึ้น
 ดังนั้นถ้ามีอะไรก็ตามส่งผลกระทบ ต่อการทำงานของสมอง
ที่จะควบคุม ระบบภูมิคุ้มกัน มะเร็งย่อมเกิดขึ้นได้

         พลังงานไฟฟ้าลบสูงมาก จะทำให้การสร้างเซลล์น้อยกว่าการทำลายหรือเท่าเดิม
แต่รูปร่างเล็กกว่าเดิม จะเป็นสาเหตุของ โรคลีบตีบต่างๆ เช่น หลอดเลือดตีบ
ลิ้นหัวใจตีบ กล้ามเนื้อตาย มันสมองฝ่อ ภูมิต้านทานบกพร่อง ตับวาย ไตวาย
กล้ามเนื้อหัวใจ ไม่ทำงาน เรียกว่า โรคไหลตาย เด็กเกิดมามี ร่างกาย ไม่สมบูรณ์เป็นต้น
พลังงานไฟฟ้าภายในร่างกาย ของแต่ละบุคคลอาจไม่ เท่ากัน ก็เป็นได้
ผมเคยพบว่า การเพิ่มเลือด เกล็ดเลือดให้คนไข้ สภาพร่างกายคนไข้ไม่ยอมรับเลือด
หรือเกล็ดเลือดนั้น เพราะเลือดใหม่ และเลือดเก่าไ ม่สามารถเข้ากันได้
แม้ทางการแพทย์จะวิเคราะห์แล้วว่า เป็นเลือดกรุ๊ปเดียวกัน

         เมื่อพิจารณา ในสมาธิพบว่า พลังงานไฟฟ้าที่ควบคุมเม็ดเลือดนั้นไม่เท่ากัน
แสดงว่า พลังงานควบคุม เม็ดเลือด ของแต่ละคนจะเท่ากัน หรือไม่เท่ากันก็ได้
และพบอยู่มาก กับกลุ่มผู้หลงผิด ที่ไปรับเอา พลังงานอื่น มากดทับ พลังจิต ของตนเอง
ทำให้การทำงานของ พลังจิต ของตนผิดไป จิตนั้นจึงสั่งมาที่ สมองของตนผิด
การแสดงออกของร่างกายจิตผิดไปด้วย เช่น กลุ่มของคนทรงเจ้าเข้าผี
กลุ่มของคน เหล่านี้จะไปรับเอาเวทย์มนต์คาถา ของอิทธิฤทธิ์ ของอาถรรพ์ดวงวิญญาณเข้ามาสิง
เช่น ดวงวิญญาณกุมารทอง นางกวัก ปลัดขิก เจ้าพ่อ เจ้าแม่ น้ำมันพราย
หรือองค์เทพต่างๆ มาอยู่กับตน ที่เรียกว่า เดรัจฉานวิชา ไม่เป็นจิตดั้งเดิม ของตนเอง
อาการป่วยของบุคคลเหล่านี้ ทางการแพทย์จะตรวจหา สาเหตุไม่พบ


การเพิ่มพลังจิตและการรับพลังจิต

         บุคคลที่มีสมาธิดีจะมีคลื่นความถี่ และความรุนแรงของพลังงานความคิดสูง 
สามารถที่จะส่งพลังงานนั้น ไปยังบุคคลที่ตั้งเป้าหมาย ไว้ได้แน่ชัดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ที่ตัวผู้รับได้ตามความปราถนานั้น เรียกว่า การเพิ่มและการรับพลังจิต การเพิ่มแต่ละครั้ง
แต่ละคนไม่เหมือนกัน เพิ่มพลังจิต แต่ละครั้งนาน เท่าใด ผู้เพิ่มพลังจิตจะทราบได้
ในสมาธิจิตนั้น หากผู้รับยังรับได้ ก็เพิ่มให้ต่อไป หากเห็นว่า พลังจิต ที่ส่งไปนั้นหยุดลง 
ก็หยุดเพิ่มพลังจิตในครั้งนั้น และต้องเพิ่มพลังจิตกี่ครั้งจึงจะได้ผล สิ่งนี้ไม่มีกำหนด
แน่นอนขึ้นอยู่กับผู้รับ หากผู้รับสามารถรับพลังจิตได้มาก และเห็นว่าอวัยวะที่ผิดปกตินั้น
เปลี่ยนเป็น ปกติเร็ว พลังจิตที่ส่งไปจะหยุดลง ควรหยุดเพิ่มพลังจิตให้ผู้ป่วย
กลับไปทำสมาธิภาวนาด้วยตนเอง ผู้ป่วยจะสร้างพลังจิตที่ดีขึ้นมาได้
พลังจิตนั้นๆ จะบำบัดทุกข์ให้กับผู้ป่วยได้ในที่สุด



การเพิ่มพลังจิตกระทำได้ 3 ทาง คือ

1. เพิ่มที่อวัยวะนั้นโดยตรง
2. เพิ่มที่จุดกำเนิดของพลังจิต คือที่ต่อมไพเนียล
3. เพิ่มพลังจิตให้ครอบคลุมทั้งตัวผู้รับ จะเพิ่มให้ใครที่อวัยวะใดนั้น
จะทราบและเห็นได้ในสมาธินั้นๆ

ผู้เพิ่มพลังจิตที่ดี

         ผู้เพิ่มพลังจิตที่ดีควรมีคุณสมบัติดังนี้คือ เป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา
และเมื่อเพิ่มพลังจิตให้กับใครก็ตามต้องรู้ทุกข์ รู้สาเหตุแห่งทุกข์ รู้หนทางดับทุกข์ 
และรู้วิธีการดับทุกข์นั้นๆโดยชัดแจ้งพร้อมตั้งตนอยู่ในพรหมวิหารธรรม และหิริโอตัปปธรรม

ผู้รับพลังจิตที่ดี คือ เป็นผู้ที่มี

1. ศรัทธา ผู้รับต้องมีศรัทธาที่จะรับพลังจิต
2. สมาธิ ผู้รับต้องมีความตั้งมั่นแห่งจิตอยู่กับกายและจิตของตน
3. สติ ผู้รับต้องมีความระลึกได้ว่าตนกำลังรับพลังจิตอยู่
4. ปัญญา ผู้รับต้องรู้จักการปล่อยวางความทุกข์ออกจากจิตใจในขณะนั้น
5. ความขยันหมั่นเพียร การรับพลังจิตนั้นต้องรับสม่ำเสมอ
และให้ตั้งอยู่ในคำสอนของพุทธองค์เป็นหลัก ดังกล่าวแล้ว

การเพิ่มพลังจิตผ่านบุคคลอื่นวัตถุอื่น

         บางกรณีที่จำเป็น คือ ผู้ป่วยไม่สามารถขอรับพลังจิตด้วยตนเองได้ 
เช่นอยู่ในห้องผู้ป่วยหนัก อยู่ในโรงพยาบาลจิตเวช อยู่ต่างประเทศ 
ผมได้ทดลองเพิ่มพลังจิตผ่านกระแสจิตของผู้ใกล้ชิด เช่น พ่อ แม่ บุตร
สามี ภรรยา ผู้ดูแล หรือผ่านลงไปในน้ำดื่ม ก็สามารถช่วยผู้ป่วย
ได้บ้างเป็นบางส่วนเท่านั้น


การฝึกจิตและการใช้พลังจิต 

๑.    การฝึกจิตกับการใช้พลังจิตแตกต่างกันอย่างไร

   เคยเห็นนักยกน้ำหนักฝึกซ้อมหรือไม่ เวลาเขาฝึกจะหนักมาก เพื่อให้เวลาแข่งขันจริงๆ 
มีความแม่นยำคงที่ สมมุติว่าเคยยกน้ำหนักได้ ๑๐๐ กก. ในตอนฝึกครั้งแรก 
แล้วยังต้องฝึกยกน้ำหนักนั้นๆ ให้ได้คงที่ทุกครั้งอย่างที่ต้องการยก ไม่ใช่ว่ายกได้บางครั้ง
บางครั้งยกไม่ได้ เพราะเวลาขึ้นแข่งขันยกน้ำหนักจริงๆ จำต้องยกให้ได้จริงๆ ดังนี้
อุปมาก็เหมือนการฝึกจิต เวลาฝึกจะหนักและเคร่งครัด แต่เวลาใช้จริง อาจไม่หนัก
หรือไม่มากเท่าเวลาฝึก สมมุติจะฝึกสติ จำต้องฝึกให้มีสติตลอดเวลาทุกวินาที
แต่เวลาเลิกฝึก ก็อาจไม่สามารถทำได้ทุกวินาทีเป็นธรรมดา ไม่ผิด และเมื่อจะใช้สติ
 ก็สามารถเรียกใช้ได้ ประดุจแขนขาที่ฝึกจนแข็งแกร่งแล้ว หากมีเหตุจำต้องใช้แขน
 ก็ย่อมใช้แขนได้ หากยังไม่มีเหตุให้ใช้แขน ก็ยังไม่จำเป็นต้องใช้ ดังนี้ เราจึง

เรียกการฝึกจิตที่ดีแล้วว่า “การเจริญอินทรีย์ห้า” คือ จิตที่ฝึกดีจะใช้งานได้
ประดุจ “อินทรีย์” หรือร่างกายอีกร่างกายหนึ่งเลยทีเดียว ทั้งนี้ก็ไม่จำเป็น
ต้องใช้อวัยวะในร่างกายตลอดเวลา การมีสมาธิ, สติ, ปัญญา, ศรัทธา, วิริยะ นั้น
บางครั้ง ในชีวิตจริงก็มีย่อหย่อนบ้าง ลดบ้าง เพิ่มบ้าง สำหรับผู้ฝึกจิตแล้ว
ช่วงแรกจำต้องฝึกเหมือนนักกีฬา คือ ไปสู่จุดสูงสุดก่อน เมื่อนำไปใช้ปราบกิเลสสิ้นแล้ว
บรรลุธรรมแล้ว ก็เปรียบเสมือนโค้ช ไม่ต้องฝึกหนักเหมือนอดีต เพียงแค่ประคับประคอง
ต่อเนื่องไปก็พอ ดังนี้ จึงแตกต่างกันแน่นอนระหว่างการฝึกจิตและการใช้พลังจิต

   การใช้พลังจิตที่สำคัญที่สุด และเป็นจุดสูงสุดของชีวิตมนุษย์ทุกคน
คือ การใช้พลังจิตชนะใจตนเอง จนจิตสามารถทำงานเป็น “นายของใจ” ได้สมบูรณ์ เมื่อนั้น 
ก็สามารถทำกิจต่างๆ ประกอบด้วยปัญญาและพลังอำนาจมากมาย ใจจะทำหน้าที่
เป็นเรขานุการให้จิต และมีร่างกายเป็นบ่าว แต่จำต้องปราบให้ใจยอมสิโรราบแก่จิตก่อน 
อันจิตนั้นเป็นความบริสุทธิ์ใสซื่อตรงไปตรงมา เป็นผู้รู้ ผู้เห็น ผู้สั่งการ ผู้ตัดสินใจ
ผู้ก่อกรรม และเป็นผู้ดำเนินไปในแต่ละชาติภพไม่สิ้นสุดตราบจนกว่าจะนิพพาน
 จึงจะไม่มีชาติภพใหม่อีก มีแต่จิตที่เป็นทิพย์มีความสุขตลอดกาล จิตนั้นเป็นพุทธะอยู่แล้ว
เป็นธรรมดา ธรรมชาติ เป็นธรรมะในตัว ไร้กิเลส เป็นเราแท้ ไม่ใช่อัตตา และไม่ใช่ความว่าง
แต่เป็นเราที่แท้จริง คือ เราเป็นพุทธะ พุทธะเป็นเรา พุทธะไร้กิเลส เราไร้กิเลส
พุทธะไม่อยาก ไม่ยึด เราไม่อยากไม่ยึด แต่กิเลส ความอยาก ความยึดมั่นนั้น
ไม่ได้มาจากจิต ไม่ได้มาจากเรา ไม่ใช่ของเรา เราจึงต้องสละทิ้งสิ่งที่เราเคยหลงผิด
ว่าเป็นเรา เป็นของเรา (อัตตา) ออกไป

   เมื่อจิตมีพลังอำนาจกล้าแข็ง ย่อมมีกำลังสลัดสิ่งที่ไม่ใช่ของเราทิ้งไป
 คือ ละคลายการยึดมั่นถือมั่น, ความอยากผิดธรรมดา และกิเลสตัณหาต่างๆ ได้หมดสิ้น 
เข้าสู่ความเป็นเราแท้ ที่ไม่ใช่อัตตา เป็นอาตมัน ที่เป็นส่วนหนึ่งของสรรพสิ่งที่เรียกว่าปรมาตมัน
คือ เราแท้แล้วเป็นส่วนหนึ่งของสรรพสิ่ง ไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่สิ่งที่แปลกแยกเป็นตัวตนของตน
สรรพสิ่งไม่ใช่ของเรา แต่เราเป็นส่วนหนึ่งของสรรพสิ่ง เราได้รับผลกระทบบีบเค้น
จากสรรพสิ่งได้ (ทุกขัง) และเราก็ก่อกรรมต่อสรรพสิ่งได้ (อกุศลกรรม) สรรพสิ่ง
และเรากระทบถึงกันอย่างไม่อาจหลีกพ้นได้ มีการกระทำจากเราเมื่อใด 
ย่อมมีการกระทบย้อนกลับมาสู่เราในอนาคตได้เมื่อนั้น (วิบากกรรม) ดังนี้ 
เราจึงต้องก่อแต่สิ่งดีให้แก่สรรพสิ่ง เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของสรรพสิ่งนั้น 
เราจึงจะอยู่เป็นส่วนหนึ่งของสรรพสิ่งได้โดยไม่ทุกข์นั่นเอง

๒.    การฝึกจิตกับการปล่อยตามใจแตกต่างกันอย่างไร

   การฝึกจิตเป็นการกระทำโดยมีเจตนาและเป้าหมายชัดเจน มุ่งหวังผลสำเร็จ
จากการกระทำนั้นๆ จึงเป็นเสมือนแผนการชีวิตของตนเอง เป็นแผนการสำหรับจิต
เป็นมรรคหรือทางเดินแห่งจิตวิญญาณของตนเอง ในขณะที่การปล่อยให้จิตถูกใจบงการ
ตามอำเภอใจ คือ การยอมสูญเสีย “จิต” ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของพลังอำนาจ
และปัญญาความรู้ทั้งมวลของตนเอง ให้กับใจไป เช่น การเห็นอาหารครั้งใด
ก็ห้ามใจไม่ได้ที่จะกิน เมื่อกินมากๆ ก็อ้วน เมื่ออ้วนก็วิตกกังวลเป็นทุกข์
และหาทางลดน้ำหนัก บ้างพยายามฝืนใจห้ามใจไม่ให้กินมากเกินไป นี่คือ
ตัวอย่างของการตกเป็นทาสใจ ปล่อยตนเองไปตามอำเภอใจ และรับผลกรรมจากใจ
ที่บงการจิต เป็นบุคคลที่มีกำลังจิตอ่อนแอ ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง

ซึ่งแม้นภายนอกจะแสดงออกด้วยความดื้อด้านก้าวร้าว แต่ภายในกลับอ่อนแอ จิตใจไม่มั่นคง
มักเผลอเอนเอียงตามคำยั่วยุหรือโฆษณาอยู่เสมอ ดังนั้น หากขาดซึ่งการฝึกจิต
ก็เท่ากับปล่อยให้จิตเป็นทาสของใจ สูญเสียพลังจิตและปัญญาความรู้จากจิต
และเท่ากับขาดการวางแผนทางเดินชีวิต หรือขาดมรรควิธีของการดำรงชีพที่ถูกต้อง
แม้นจะร่ำรวยมหาศาล แต่ก็เป็นได้แค่เถ้าแก่กรรมกรที่จ้างตนเองทำงานหนักไปวันๆ 
จนตายจากโลกนี้ไปเท่านั้นเอง ทรัพย์สินมหาศาลอันใดก็ไม่อาจพกพาไปได้
แม้นสตางค์แดงเดียว มรดกที่คิดไว้ให้ลูกหลาน ลูกก็อาจจะดำเนินธุรกิจผิดพลาด
ผลาญหมดสิ้นไป หรือไม่ก็ถูกผู้ถือหุ้นที่ชำนาญกว่าโกงหมดตัวก็เป็นได้
เพราะความร่ำรวยนั้น มันไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เราแท้ เราแท้ คือ จิต คือ พุทธะ 
ที่ยังต้องดำเนินต่อไปในจักรวาลนี้ หลังจากละสังขารนี้ลงไป ก็ยังต้องเดินทางไปต่อ 
หากเดินอย่างไร้ทิศทาง ไม่มีมรรควิธี ก็คือ “ผู้หลงทาง” นั่นเอง

   ดังนั้น จะปล่อยให้จิตตกเป็นทาสใจต่อไป ไม่อาจมีกำลังอำนาจและปัญญาเป็นอิสระ 
หรือจะหันมาดูแลจิตใจ ฝึกจิตเพื่อใช้อำนาจและปัญญาจากจิต และฝึกใจ
ให้ประสานการทำงานร่วมกับจิต ให้รู้ว่า “ใจ” เป็น “เรขานุการ” ของจิต
 ไม่ใช่เป็น “เจ้านาย” ของจิต ทำงานอย่างรู้หน้าที่ ประสานกันดีระหว่างจิตและใจ 
ก็จะสามารถพัฒนาตนเองได้สูงสุด ทั้งพลังอำนาจและปัญญาญาณ ด้วยเพราะใจนั้น 
เหมือนเลขานุการที่มักฟังความรอบด้าน รับรู้สรรพสิ่งรอบตัว และมักไหวเอนง่าย 
เลือกที่รักมักที่ชัง และยึดมั่นไม่ใช้ปัญญาพิจารณา ดังนั้นจำต้องฝึกให้จิต
มีพลังอำนาจเหนือใจ และใช้ใจที่เปรียบเป็นเลขานุการแทน การทำงานและตัดสินใจ
จึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุด

๓.  การฝึกจิตกับการฝึกสมองแตกต่างกันอย่างไร

    สำหรับผู้ฝึกจิตแล้ว จำต้องเข้าใจว่าจิตและสมองนั้นไม่ใช่อย่างเดียวกัน 
และจำต้องแยกแยะการทำงานของจิตใจในส่วนที่เป็น “สมอง” และในส่วนที่เป็น “จิต” 
ออกจากกันให้ได้ เพื่อเลือกฝึกจิตให้ถูกวิธี ไม่ใช่ฝึกได้แต่สมองแต่จิตไม่มีพัฒนาการ
อนึ่ง การศึกษาเล่าเรียนในปัจจุบันนั้นเป็นการฝึกสมอง และมีโอกาสได้พัฒนาจิตใจ
บ้างเพียงเล็กน้อย แต่ไม่อาจเรียกได้ว่าการเรียนในปัจจุบันนั้นเป็นการฝึกจิตแต่อย่างใด 
การฝึกโดยใช้การ “จำ”, “เข้าใจ”, “รับรู้”, “คิด”, “จินตนาการ” นั้น ล้วนเป็นการทำงานของสมอง
ไม่ใช่ผลของจิต แต่จิตนั้นสามารถรู้ในสิ่งที่ไม่มีในสมองได้ เช่น รู้ได้ว่าอนาคตข้างหน้า
จะเกิดอะไรขึ้น ทายได้ว่ามีอะไรที่ซ่อนอยู่ที่ตามองไม่เห็น ฯลฯ เหล่านี้ มีหลายท่าน
ใช้พลังจิตหยั่งรู้และพิสูจน์ให้เห็นประจักษ์แก่ตามาบ้างแล้ว จึงเห็นได้ชัดว่าการฝึกจิต
ไม่ใช่วิธีแบบเดียวกับการฝึกสมองแน่นอน อันจะกล่าวต่อไป

๔.    พิสูจน์ได้อย่างไรว่าพุทธะคือเราที่แท้จริง

    ย่อหน้าข้างต้นมีการกล่าวว่าเราคือพุทธะ พุทธะคือเรา อัตตาไม่ใช่เรา อัตตาไม่ใช่อาตมัน
กิเลสไม่ใช่ของเรา แต่เราคือความบริสุทธิ์ คือ อาตมัน หรือ อาตมา คือ พุทธะ ที่แท้จริง
โปรดอย่าเพิ่งเชื่อง่ายจนเกินไป ตราบเท่าที่ท่านยังไม่ได้พิสูจน์ และจงอย่าต่อต้าน
ความเชื่อนี้เสียทันที จงวางจิตเป็นกลางอุเบกขาเสีย แล้วพิสูจน์ด้วยการปฏิบัติ
โดยตัวท่านเองให้เห็นประจักษ์ ซึ่งไม่ยากเลยที่จะทำให้ท่านยอมเสียเวลาพิสูจน์
เรื่องของตัวท่านเองในเรื่องนี้ ว่าท่านนั้นแท้แล้วไม่ใช่อัตตาแต่เป็นพุทธะ
หรือ เราคืออาตมา อาตมาคือพุทธะ อาตมาเป็นธรรมเล็ก อยู่ในธรรมใหญ่คือปรมาตมัน
คือ ส่วนหนึ่งของสรรพสิ่ง สรรพสิ่งคือธรรมใหญ่ มีธรรมเล็กคืออาตมา

     หากท่านพอใจในตัวท่าน ของๆ ท่าน สิ่งที่ท่านเป็นอยู่ขณะนี้ดีแล้ว
ท่านย่อมมีแต่ความสุขแท้ เบาสบายใจ ไร้ความกังวลว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตข้างหน้า
หรือพะวักพะวงกับสิ่งของในอดีต เช่น เกรงว่าหุ้นของท่านราคาจะตก, ทรัพย์สินของท่าน
จะมีอันเป็นไปหรือไม่, คนรักของท่านจะยังดีอยู่และรักท่านเหมือนเดิม, เงินเดือนที่ได้รับ
ทุกเดือนยังจะดีอยู่, กำไรยังจะดีอยู่พอใจอยู่, ผู้ร่วมงานจะยังตอบรับท่านดีอยู่, 
สถานภาพของท่านยังได้รับการยอมรับจากสังคมในปัจจุบันอยู่ ฯลฯ

หากท่านมีความสมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง เบาสบายใจไร้กังวลใดๆ ถึงแม้ความตาย
และสรรพสิ่งหายนะตรงหน้าท่านก็เบาสบายใจได้ไม่ทุกข์ร้อน ขอแสดงความดีใจอย่างยิ่ง
เพราะว่าท่านได้สัมผัสจิตพุทธะแล้ว ซึ่งอยู่ในตัวของท่านเอง แต่หากท่านยังไม่ได้สัมผัสจิตพุทธะ 
เพราะมัวคิดว่านั่นไม่ใช่ท่าน ท่านไม่ใช่พุทธะ ท่านไม่ใช่คนที่มีสติปัญญาและมีความสุขสงบ
เต็มอิ่มสมบูรณ์แบบนั้นได้ ก็ขอแสดงความเสียใจที่ท่านได้ดูถูกตัวเอง ดูถูกวิวัฒนาการสูงสุด
ของมนุษย์ที่เหนือสัตว์ชนิดใดในโลกนี้ และละทิ้งโอกาสทองที่มีค่าที่สุดในชีวิตของท่านไป 
เพราะหากท่านเห็นความสำคัญของตัวเองสักนิด และยอมเสียเวลาทำบางสิ่งที่เรียบง่าย
เพื่อตนเองวันละหน่อย ท่านกลับพบสิ่งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของท่าน ก็คือ ตัวท่านเอง 
ไม่ใช่สิ่งที่ท่านสร้างขึ้นนั้น จะมายิ่งใหญ่เหนือท่านได้อย่างไร

นั่นก็หมายรวมถึงทุกสรรพสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาแลกเปลี่ยนค้าขายกันนี้ วัตถุต่างๆ เหล่านี้
ก็ย่อมไม่ยิ่งใหญ่เหนือท่าน หรือแม้แต่สรรพสิ่งรอบตัวท่าน ที่ท่านไม่ได้สร้างขึ้น
มนุษย์ไม่ได้สร้างขึ้น เป็นธรรมชาติใหญ่สร้างขึ้นมาเอง สิ่งนั้นก็ไม่ใช่ท่าน
ดังนั้น หากท่านจะค้นหาความยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของท่าน ขอตอบว่ามันอยู่ในตัวท่านเอง
และเป็นท่านเองนั่นแหละที่ยิ่งใหญ่ เป็นส่วนหนึ่งของสรรพสิ่งที่ยิ่งใหญ่
ซึ่งท่านไม่จำเป็นต้องไปไขว่คว้าหาสิ่งใดๆ ที่ยิ่งใหญ่ภายนอก เพราะตัวท่านเอง
ก็คือหนึ่งเดียวกันกับสิ่งที่ยิ่งใหญ่นั้น คือ อาตมันนั้นหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของปรมาตมันอยู่แล้ว 
พุทธะคือส่วนหนึ่งของธรรมะอยู่แล้ว ดังนี้ เราคือพุทธะ พุทธะคือธรรม เราก็คือธรรม 
เป็นส่วนหนึ่งของธรรม อยู่ได้ด้วยธรรมสร้าง ธรรมรักษา และธรรมเปลี่ยนแปลงพัฒนา 
และเราผู้เป็นพุทธะ ก็คือผู้สร้างธรรม ผู้รักษาธรรม และผู้เปลี่ยนแปลงพัฒนาธรรม 
และเป็นเฉกเช่นนี้ทุกทั่วตัวคนทั้งสิ้น

    เมื่อท่านเข้าสู่ภาวะพุทธะอันแท้จริงในตัวของท่านเอง ละคลายการยึดมั่นและความอยาก
อันแสดงออกมาในรูปกิเลสตัณหาต่างๆ ได้หมดสิ้นแล้ว ท่านจะได้รับพลังที่เติมเต็มจิตวิญญาณ
ให้เต็มอิ่มสมบูรณ์ มีความสุขสงบอันละเมียดละไม ละเอียดอ่อนเหนือคำบรรยาย 
มีความเบาสบายใจเป็นเนืองนิตย์ ไร้ซึ่งความวิตกกังวลใดๆ มองเห็นโลกที่เคยหนัก
และแปลก กลายเป็นโลกที่เบาสบายและคุ้นเคยราวกับเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน 
สรรพสิ่งล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้ท่านมีความสุขแม้นแต่สิ่งนั้นเคยทำให้ท่านทุกข์ก็ตาม 
สิ่งใหญ่ๆ กลายเป็นเรื่องเล็กๆ และสิ่งเล็กๆ กลายเป็นความสุขสวยงามที่ยิ่งใหญ่สำหรับท่าน
บางครั้ง สรรพสิ่งเหมือนหยุดนิ่งไม่ไหวติงตลอดกาลนาน เหมือนการหลับอันยาวนาน
ที่ไม่ต้องตื่นอีกเลย แต่เป็นการหลับที่สว่างไสวไปด้วยความรู้ความเข้าใจโลกและตัวท่านเอง 
เป็นความเชื่อมั่นที่เข้มแข็ง ไม่ไหวเอน ไม่โยกโคลง ไม่คลอนแคลน ไม่ต้องหาที่เกาะยึด
พึ่งพิงทางใจ ไม่ต้องเป็นทาสของการผูกมัดหรือเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น คือ ความเป็นอิสรภาพ
และเสรีภาพและความเป็นหนึ่งเดียวกันของสรรพสิ่ง สูงสุดทั้งอุดมคติแห่งโลกเสรีประชาธิปไตย
และสังคมนิยม ผสมผสานเป็นหนึ่งเดียวกันในตัวท่านเองอยู่แล้ว ท่านจะพึงพอใจสภาวะเช่นนี้ 
มากกว่าสภาวะเดิม ก่อนที่ท่านจะค้นพบตัวท่านเอง และพึงพอใจในความมหัศจรรย์
ในตัวของท่านอย่างที่สุดเหนือสิ่งใดๆ จนแม้นแต่ความหายนะของสรรพสิ่ง
หรือแม้นแต่ความตายมาพรากสรรพสิ่งไปจากท่าน ท่านก็ไม่รู้สึกสะทกสะท้านแต่อย่างใด


เมื่อท่านค้นพบตัวท่านถึงสภาวะเช่นนี้ ท่านย่อมมั่นใจแน่นอนว่าท่านคือพุทธะแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น