วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

สมถะกรรมฐาน – อัปปนาสมาธิ


การเรียนรู้การฝึกฝนในวิชาใด ๆ ล้วนมีบทเริ่มต้น การจิตก็เช่นเดียวกัน 
บทเริ่มต้นคือ สมถกรรมฐาน เป็นการฝึกจิตให้เกิดความสงบ เหตุผลหรือความจำเป็น
ที่เราต้องฝึกจิตให้เกิดความสงบเป็นสิ่งแรกก็คือ ความสงบนั้นเป็นเหตุให้จิตมีพลังเพิ่มขึ้น 
ยิ่งจิตมีความสงบมากเท่าใดพลังจิตก็เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น พลังจิตที่เพิ่มขึ้น 
จะทำให้เราทราบถึงระดับพลังงานของจิตว่ามีกี่ระดับ และเป็นเครื่องมือใช้ในการศึกษา
กระบวนการทำงานของจิต เพื่อให้เกิดความเข้าใจในระดับพลังงานและกระบวนการ 
แล้วนำความเข้าใจที่ได้ไปฝึกไปบริหารจิต เพื่อพัฒนาให้จิตมีปัญญา สามารถค้นหา 
และค้นพบว่า จิตจะต้องอยู่ที่ระดับพลังระดับไหน และโดยกระบวนการอย่างไร 
ถึงจะเป็นอิสระหลุดพ้นจากทุกข์ได้อย่างแท้จริง

                พลังจิตที่เพิ่มขึ้นจากความสงบนั้น เกิดจากการที่เราลดการใช้งานของจิตลง 
และรวมกำลังจิตให้รวมตัวอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง  เพราะการใช้ชีวิตประจำวันตามธรรมดา
ของคนเรานั้น พลังจิตจะถูกใช้ไปกับการนึกคิด ร่วมไปกับความรู้สึกและอารมณ์ต่าง ๆ 
ที่เข้ามากระตุ้นจิต ให้จิตมีหน้าที่ เมื่อจิตมีหน้าที่จึงทำงานใช้พลังจิตอยู่ตลอด 
พลังจิตจึงหมดไปเรื่อย ๆ เมื่อใกล้หมดเราก็จะอ่อนเพลียอยากพักผ่อน ง่วงนอนแล้วก็หลับไป 
การนอนหลับเป็นการทำให้จิตเพิ่มกำลังขึ้นก็จริงเพราะมันเป็นธรรมชาติของจิต
ที่ต้องพักหลบเข้าภวังค์ เพื่อทดแทนพลังทั้งหมดที่หมดไปในแต่ละวัน พลังที่เกิดขึ้น
จากการนอนหลับ มันจึงพอเพียงสำหรับที่เราจะใช้เพื่อทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันทั่วไปเท่านั้น 
ยังไม่พอที่จะนำไปใช้ศึกษาเรื่องของจิต การศึกษาเรื่องของจิตเป็นการศึกษาเรื่องที่ละเอียดอ่อน
ซับซ้อน มีสถานะของพลังอยู่หลายระดับ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้พลังจิตมากกว่า
กิจกรรมตามปกติทั่วไป  และการเพิ่มพลังจิตที่เราหมายถึงคือ การเพิ่มพลังในขณะที่จิตเรายังตื่นอยู่
โดยให้จิตมีหน้าที่เพียงอย่างเดียว นำจิตให้มารวมอยู่ที่จุดใดจุดเดียว ไม่แส่ส่าย คิดนึกไปหลายเรื่อง
ตามสิ่งที่มากระตุ้น  เมื่อลดหรือหยุดใช้พลังได้ พลังมันก็ไม่เสียไป มันจึงจะสามารถสะสมเพิ่มพูนได้

                วิธีทำให้จิตรวมตัวอยู่ที่ใดที่หนึ่งเพื่อเพิ่มพลังจิตนี้  ที่ผ่านมามีวิธีการฝึกมากมาย 
มีมาก่อนพระพุทธองค์จะตรัสรู้เสียอีก  แม้พระพุทธองค์เอง ก่อนตรัสรู้ก็ต้องไปเรียน 
ไปศึกษาจากสำนักต่าง ๆ  ที่มีสอนกันในสมัยนั้น ที่เป็นวิธีใหม่ที่พระพุทธองค์นำมาสอนก็มี 
และบรรดาสาวกรุ่นหลังบัญญัติขึ้นมาก็มีอีก  สามารถแบ่งได้เป็นสองลักษณะคือ
การเพ่งสิ่งภายนอกร่างกาย
                เป็นการเพ่งพิจารณาหรือรวมความรู้สึกไว้กับสิ่งที่อยู่นอกร่างกาย
เพื่อจดจำลักษณะอาการของสิ่งที่เพ่งนั้น แล้วนำมานึกน้อมกำหนดบริกรรมในใจ
จนกว่าจะทำให้จิตสงบ เช่น การเพ่งกสิณ 10 รวมความรู้สึกเป็นหนึ่งไว้กับธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ 
กับสี เขียว เหลือง แดง ขาว กับแสงสว่าง กับช่องว่าง , การเพ่งอสุภะ 10  
คือ ซากศพในสภาพต่าง ๆ 10 อย่าง การเพ่งอรูป 4  คือ อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ 
 ภาวะความไม่มีอะไร ภาวะความมีก็ไม่ใช่ไม่มีก็ไม่ใช่, การพิจารณา 
ความเป็นปฏิกูลในอาหาร เป็นต้น
การเพ่งสิ่งภายในร่างกาย
                เป็นการรวมความรู้สึกไว้กับ ความนึก ความคิด และรวมความรู้สึกไว้ตามจุดฐานต่าง ๆ  
ในร่างกายจนกว่าจิตจะสงบ เช่น การคิดพิจารณาความเป็นธาตุ 4 ที่มารวมกันเป็นรูปร่างกาย
การนึกอยู่กับอารมณ์ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา การระลึกถึงสิ่งที่ควรระลึก 10  อย่าง 
คือ  พระพุทธองค์ พระธรรม พระสงฆ์ ศีล การเสียสละ เทวดา ความตาย 
กายเป็นสิ่งที่ไม่สะอาด ลมหายใจเข้าออก นิพพาน, การรวมความรู้สึกไว้ที่จมูก 
กับลมหายใจเข้าออก , กับคำบริกรรมต่าง ๆ  , รวมความรู้สึกไว้ที่ ท้อง ลิ้นปี่ หน้าอก 
คอ หน้าผาก ศรีษะ มือ กระดูก หัวใจ เป็นต้น

                ภายในร่างกายของคนเรานั้น มีสิ่งที่เรียกว่า ธาตุรู้ หรือวิญญาณธาตุ 
 แทรกซึมอยู่ทั่วร่างกาย ธาตุรู้นี้เป็นสิ่งที่ทำให้เราเกิดมีสภาพรู้สิ่งต่าง ๆ ขึ้นโดย
ร่างกายของเรามีจุดศูนย์รวมของธาตุรู้ อันเป็นจุดที่มีธาตุรู้รวมตัวกันอยู่มาก มีอยู่ 7 ที่ด้วยกัน 
คือ  ที่ตา เรียกว่า จักขุวิญญาณ, ที่หู เรียกว่า โสตวิญญาณ, ที่จมูก เรียกว่า ฆานวิญญาณ
ที่ลิ้น เรียกว่า ชิวหาวิญญาณ, ที่ผิวกาย เรียกว่า กายวิญญาณ และที่สมอง 
ทั้งหมดนี้จัดเป็นอายตนะภายนอก ส่วนที่หัวใจ หรือใจ  เรียก มโนวิญญาณ  
จัดเป็นอายตนะภายใน โดยใจจะเป็นศูนย์กลางของธาตุรู้ทั้งหมดอีกที เพราะธาตุรู้
รวมตัวกันอยู่ที่ใจนี้มากที่สุด และอายตนะภายนอกกับภายในนี้จะเกิดการเชื่อมโยง
สภาพรู้กันอยู่ตลอดเวลา คือ เมื่ออายตนะภายนอกถูกกระทบ เช่น ตาเห็นรูป 
ธาตุรู้ที่ตาถูกระตุ้นด้วยแสง ธาตุรู้ที่ตาก็ทำงาน เกิดสภาพรู้ที่ตาขึ้น แล้วสภาพรู้ดังกล่าว
จะเคลื่อนตัวไปเกิดสภาพรู้ที่ใจอีกทีถึงจะเกิดเป็นความรู้ตัวว่าเกิดการเห็นขึ้นอย่างสมบูรณ์ 
เมื่อรู้ผ่านใจแล้ว สภาพรู้จะวนกลับมาที่ตา รับรู้การกระทบ และวนไปรู้ที่ใจอีก 
หมุนวนเช่นนี้เรื่อยไป แต่กระบวนการนี้จะเกิดขึ้นเร็วมาก เราจะไม่เห็นกระบวนการนี้
จนกว่าจะได้ฝึกจิตในขั้นวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

                ธาตุรู้นี้หากจะกล่าวให้เข้าใจง่ายก็คือ เซลล์ประสาท แต่หากจะกล่าว
ให้เข้าใจอย่างละเอียดแล้วมันไม่ใช่เซลล์ประสาท คือธาตุรู้นี้จะอาศัยเซลล์ประสาท
เป็นที่อยู่เป็นที่อาศัย และจะอยู่ในส่วนที่เล็กที่สุดของเซลล์ (cell) เชื่อมโยงต่อกันเป็นสาย ๆ  
ส่วนจิตนั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ธาตุรู้ แต่มาอาศัยยึดเกาะและปรุงแต่งธาตุรู้อยู่ จิตที่เราหมายถึง
ในตอนนี้ก็คือ จิตที่เนื่องด้วยขันธ์ คือ ความรู้สึก ความนึก และความคิด  
ดังนั้น เมื่อเรามาฝึกจิตให้เกิดความสงบไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็ตาม

                กล่าวโดยสรุปก็คือ
                เป็นการพยายามรวมจิตให้เป็นหนึ่งเดียวกับธาตุรู้ ที่อยู่ในร่างกายของเรา 
ณ จุดประสาทต่าง ๆ 
                เป็นการบังคับจิตให้อยู่กับธาตุรู้ให้รู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเดียว ไม่แส่ส่ายรู้ออกไปหลายเรื่อง เมื่อกำหนดสภาพรู้ ให้รู้เรื่องเดียวไปเรื่อย ๆ เช่นนี้แล้ว จะเป็นการหยุดการปรุงแต่งธาตุรู้ของจิต สภาพเดิมของธาตุรู้ที่ไม่ถูกปรุงแต่งก็จะปรากฏออกมา
                เป็นกระบวนการกลับเข้ามาหาผู้รู้ ที่ไปรู้สิ่งถูกรู้ การรู้สิ่งถูกรู้จะทำให้จิตเสียพลัง คือ เสียสภาพรู้ไปเรื่อย ๆ  การทำจิตให้เป็นหนึ่งเดียวกับธาตุรู้ จะจิตจะไม่เสียพลังของสภาพรู้ไปและทำให้พลังเพิ่มพูนขึ้น
                เป็นการปล่อยวาง คลายแรงยึดเกาะของจิตที่ไปยึดเกาะสิ่งถูกรู้ ที่เป็นระดับพลังที่หยาบและต่ำกว่า เข้ามายึดระดับพลังที่ละเอียดและสูงกว่า ซึ่งระดับพลังของธาตุรู้นี้ก็มีอยู่หลายระดับชั้น ในพุทธศาสนาเรียกระดับชั้นของพลังนี้สืบต่อกันมาว่า ฌาน
                ความรู้เรื่องของฌานนี้ กล่าวได้ว่าเป็นพัฒนาการทางปัญญาของมนุษย์ทางโลกตะวันออกที่ยอดเยี่ยมอย่างยิ่ง ที่สามารถค้นพบระดับพลังงานอันละเอียดของธาตุรู้ ซึ่งเป็นผลจากความอยากรู้ของมนุษย์ ที่ถามตัวเองว่า อะไรคือที่สุดของทุกสิ่ง เที่ยงแท้ไม่เปลี่ยนแปลง แบ่งแยกไม่ได้ และควรยึดถือเอาเป็นทางเดินของชีวิต
                ในขณะที่การพัฒนาทางปัญญาที่ยอดเยี่ยมของมนุษย์ทางโลกตะวันตก ก็ถูกผลักดันด้วยคำถาม อะไรคือที่สุดของทุกสิ่งเช่นกัน และนำไปสู่การค้นพบ อะตอม (Atom) , โครงสร้างของอะตอม (Atomic structure) , ระดับพลังงานในอะตอม (Energy level)  และการให้พลังความร้อนและพลังแสงโดยมิได้ต่อเนื่องกันที่มีจังหวะละเอียดมากของอะตอม ที่เรียกว่า  ควอนตัม (Quantum)  อะตอมนั้นคือส่วนที่เล็กที่สุดอย่างหนึ่งของสสาร ที่ประกอบกันขึ้นเป็นสิ่งต่าง ๆ  ในเซลล์ประสาทก็เช่นกันมีอะตอมจำนวนมหาศาลที่เรียงร้อยถักทอเชื่อมโยงต่อกันเป็นเซลล์ประสาทขึ้นมา และธาตุรู้วิญญาณธาตุก็สถิตย์อยู่ในอะตอมนี้ทุกสิ่งที่อยู่ในจักรวาลนี้ไม่ว่าจะมีโครงสร้างขนาดใหญ่หรือเล็ก  ย่อมมีจุดศูนย์กลางที่เป็นแก่นหรือแกนกลางอยู่เสมอ และพยายามปรับตัวให้มีความสมดุลของรูปทรงและพลังงานที่สุด รูปทรงดังกล่าวก็คือ ทรงกลม อะตอมก็เช่นกัน เป็นทรงกลมของระดับชั้นของพลังที่อยู่ภายใน
                สมถกรรมฐาน การฝึกจิตให้สงบ ให้จิตรวมเป็นหนึ่งกับธาตุรู้แท้จริงแล้วก็คือ การศึกษาเรื่องอะตอมภายในตัวเราทุกคน ส่วนระดับชั้นของฌาน ก็คือระดับชั้นของพลังงานภายในอะตอม
                กุศโลบายต่างๆ ที่ได้สอนให้แก่ผู้มาฝึกทำสมาธินั้น เป็นวิธีที่จะช่วยทำให้จิตสงบได้ง่ายและเร็วมาก เป็นวิธีที่ใช้ร่วมกับจุดหรือฐาน  ที่เมื่อเอาจิตไปตั้งไว้แล้ว จิตจะรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกับธาตุรู้ได้ง่าย ซึ่งมีอยู่สองตำแหน่ง คือ ฐานอารมณ์ กับ ฐานใจ ดังขั้นตอนการฝึกต่อไปนี้
สมาธิทำอารมณ์ให้สงบ / การทำจิตให้สงบ ที่ฐานอารมณ์
วิธีการ
                เมื่อคลายอารมณ์ไปพอสมควรแล้ว คือ จนเห็นว่าจิตไม่มีหน้าที่ ไม่รับรู้อารมณ์เริ่มรู้สึกเหมือนจะง่วงนอน ให้เราปรับภาวะจิตใหม่ กระตุ้นให้จิตมันมีหน้าที่ เพื่อไม่ให้จิตตกภวังค์ไป แต่ก็ให้มีหน้าที่เพียงอย่างเดียว โดยการนึกมาที่ลมหายใจเข้าออก ปรับการหายใจให้เป็นปกติ ไม่หายใจยาวเกินไป สั้นเกินไป เร็วเกินไป ช้าเกินไป หยาบเกินไป หรือ ละเอียดเกินไป ในขั้นตอนนี้ให้หายใจในลักษณะที่เราเห็นว่าเป็นการหายใจที่สบายที่สุด ไม่มีการบังคับลมหายใจ หายใจให้พอเหมาะพอดี ตามอัธยาศัยของแต่ละบุคคล แต่ให้มีสติ หายใจเข้าก็รู้ว่าหายใจเข้า หายใจออกก็รู้ว่าหายใจออก และไม่ต้องใช้คำบริกรรมอะไร
                วิธีการเช่นนี้ก็คือ อานาปานสติ เป็นวิธีการทำให้จิตสงบวิธีหนึ่งที่มีการฝึกในกันมา เป็นการฝึกให้จิตอยู่กับลมหายใจเข้าออก โดยเอาความรู้สึกตามดูตามรู้ลมหายใจเข้าออกตลอดเวลาไม่สนใจความนึกคิดที่เกิดขึ้น หากสามารถทำเช่นนี้ไปได้เรื่อย ๆ  แล้ว ลมหายใจจะละเอียดเบาบางขึ้นเรื่อย ๆ  เมื่อลมหายใจละเอียด ความนึกคิดจะลดลงไปตามความละเอียดของลมหายใจ จิตก็จะละเอียดตามลมหายใจ และจะรวมตัวสงบลงไป เมื่อทำต่อไปจนลมละเอียดมากเหมือนกับว่าลมหายใจหายไป จิตก็จะสงบลึกเข้าไปอีก ความนึกคิดที่เคยเกิดขึ้นก็จะดับตามไป  ไม่สามารถรบกวนจิตให้มาร่วมนึกคิดตามได้อีก  ภาวะเช่นนี้ก็คือ จิตสงบลงในระดับปฐมฌานแล้ว วิธีการฝึกเช่นนี้ก็เป็นวิธีที่ได้ผลวิธีหนึ่ง แต่อาจจะต้องใช้เวลาสักหน่อยกว่าที่จิตจะสงบ ยิ่งผู้ที่เริ่มฝึกฝนด้วยแล้วต้องใช้เวลานานมากทีเดียวกว่าจิตจะรวมตัวละจากความนึกคิดและสงบลงได้
                วิธีการที่จะช่วยทำให้จิตสงบง่ายและเร็วขึ้นก็คือ เมื่อปรับการหายใจจนเป็นปกติ และมีสติรู้อาการของลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ เช่นนี้แล้ว ให้สังเกตดูภายในโพรงจมูกของเราในขณะที่เราหายใจเข้าออกนั้น ลมหายใจได้เคลื่อนตัวเข้าไปสัมผัส หรือ กระทบ ตรงจุดไหนของโพรงจมูกมากที่สุด ที่เมื่อลมเข้าหรือลมออกก็ตามเมื่อมากระทบแล้ว เราจะเกิดความรู้สึกขึ้นตรงจุดนี้อย่างชัดเจนว่ามีลมเข้ามากระทบแล้วทันที ซึ่งก็จะเป็นจุดที่อยู่ปลายสุดของโพรงจมูกทั้งสองข้าง ที่เมื่อเราหายใจเข้าลมหายใจเข้าจะเคลื่อนผ่านโพรงจมูกทั้งสองข้างเข้ามาบรรจบกันด้านในที่จุดนี้และเมื่อเราหายใจออกลมหายใจจากปอดจะเคลื่อนตัวมากระทบจุดนี้ก่อนที่แบ่งแยกออกไปตามโพรงจมูกซ้ายขวา และถ้าเราสังเกตให้ดี เมื่อเราหายใจเข้า ลมเข้ามากระทบจะรู้สึกเย็นที่จุดนี้ และเมื่อเราหายใจออกลมออกมากระทบก็จะรู้สึกอุ่นที่จุดนี้ ให้หาจุดนี้ให้พบ  จุดนี้คือ  ฐานอารมณ์  ที่เราจะเอาจิตมาตั้งไว้เพื่อทำจิตให้สงบ
                ทำไมเราต้องหาจุดนี้ ก็เพราะว่าจุดนี้เป็นจุดที่จิตจะรวมตัวกันง่ายที่สุด เป็นฐานที่อยู่ไม่ลึกเกินไป หาง่าย ไม่ลำบาก หากเราเริ่มฝึกโดยไปเริ่มต้นกับฐานที่อยู่ลึกในร่างกายแล้ว จิตมันรวมตัวกันยากและสงบช้า
                เมื่อเราหาจุดนี้พบแล้ว จากนั้นให้เราค่อยๆ รวบรวมความรู้สึกมาวางทับที่จุดนี้เบา ๆ วางให้เบาที่สุด วางทับลงไปเรื่อย ๆ  จนความรู้สึกแนบสนิทเป็นหนึ่งเดียวกันกับฐานอารมณ์ ให้เรารวมความรู้สึกนิ่งอยู่กับฐานอารมณ์นี้
                การวางความรู้สึกลงที่ฐานอารมณ์นี้หากเราทำไปแล้วเรารู้สึกว่าอึดอัดที่จมูกหายใจไม่สะดวกแสดงว่าเราวางความรู้สึกทับฐานอารมณ์เร็วเกินไปและวางหนักเกินไปจะต้องถอนความรู้สึกออกมาและปรับน้ำหนักเจตนาในการวางใหม่ให้เบากว่าเดิม
                เมื่อเรารวมความรู้สึกอยู่กับฐานอารมณ์แล้ว เราก็จะเห็นลมเข้าออกมากระทบที่จุดนี้ ก็ให้เห็นแค่การกระทบก็พอให้ละความรู้สึกจากการตามดูตามรู้การเคลื่อนไหวของลมหายใจ ปล่อยให้ร่างกายของเราหายใจของมันเอง ลมหายใจเข้าออกมันจะเข้าจะออกไปที่ไหนก็ปล่อยเป็นเรื่องของมัน ให้เรารวมความรู้สึกนิ่งอยู่กับฐานอารมณ์อย่างเดียว ไม่สนใจสิ่งอื่น หากมีความนึกคิดเกิดขึ้นเราก็ไม่ต้องนึกคิดตามมัน พยายามรวมความรู้สึกให้อยู่กับฐานอารมณ์ต่อไป
                จากนั้นให้เราค่อย ๆ  ปรับลมหายใจเข้าออกให้ไหลผ่านฐานอารมณ์น้อยลง น้อยลง ปรับลมหายใจให้สั้นลง สั้นลง ปรับลมหายใจให้ละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้น เรื่อยๆ ขั้นตอนนี้ควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ควรใจร้อนบังคับลมเข้าออกให้น้อยลงเร็ว ๆ  หากทำเร็วเกินไปจะรู้สึกอึดอัดมาก เพราะลมหายใจยังหยาบอยู่และปรับตัวไม่ทัน เราควรปรับระดับลมให้น้อยลง สั้นลง ละเอียดขึ้นอย่างนุ่มนวลและเป็นธรรมชาติที่สุด หากทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปแล้วลมจะไหลผ่ายฐานอารมณ์ น้อยลง สั้นลง ละเอียดขึ้นโดยที่เราไม่รู้สึกอึดอัด และจะยังคงหายใจด้วยระดับของลมเข้าออกที่มีปริมาณน้อยเช่นนี้ได้ ให้เราทำขั้นตอนนี้ ด้วยวิธีการเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ
                ทำไมเราต้องปรับลมหายใจเข้าออกให้ไหลผ่านฐานอารมณ์น้อยลง ก็เพราะว่าลมหายใจเข้านั้นมีธาตุออกซิเจน (Oxygen)  อยู่ ซึ่งเป็นธาตุที่เราต้องใช้ในการทำปฏิกิริยาเคมีในร่างกายของคนเรา โดยเฉพาะการสันดาปสารอาหารที่เราทานเข้าไป เพื่อให้ได้พลังงานออกมาใช้ในการดำรงชีวิต ปฏิกิริยาเคมีที่ออกซิเจนเข้าไปร่วมนั้นจึงเป็นปฏิกิริยาคายพลังงาน ยิ่งมีออกซิเจนในระบบมากปฏิกิริยาก็จะดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ก็เหมือนกันการเผาไหม้เชื้อเพลิงทั่วไปยิ่งมีออกซิเจนมากไฟก็ยิ่งลุกไหม้ได้ดี
                เมื่อเรามานั่งสมาธิเพื่อทำจิตให้สงบ สิ่งที่คอยขัดขวางไม่ให้จิตสงบก็คือ ความนึกคิดเรื่องราวต่าง ๆ  ในชีวิตที่เกี่ยวข้องกับตัวเรา การนึกคิดเป็นกระบวนการที่ต้องใช้พลังงาน เมื่อต้องใช้พลังงานก็ต้องการออกซิเจน นึกคิดมากเท่าใดก็ต้องการออกซิเจนมากเท่านั้น เมื่อได้รับออกซิเจนมากความนึกคิดก็จะดำเนินไปอย่างรวดเร็ว จิตเราก็ต้องมีหน้าที่ไปร่วมกับความนึกคิดที่เกิดขึ้น หากยังปล่อยให้ลมหายใจเข้าออกเข้าสู่ร่างกายอย่างเป็นปกติแล้ว จิตจะสงบลงยาก ดังนั้น หากเราจะฝึกจิตให้สงบ จึงต้องลดองค์ประกอบสำหรับใช้ผลิตพลังงานให้น้อยลง วิธีการที่เราสามารถทำได้ก็คือ ลดการใช้ออกซิเจนให้ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อยลง โดยการปรับลมหายใจเข้าออกให้ผ่านเข้าออกร่างกายน้อยลง ยิ่งเราปรับลมให้ผ่านฐานอารมณ์น้อยลงเท่าใด ความนึกคิดก็จะน้อยลงเท่านั้น เมื่อความนึกคิดน้อยลง จิตเราก็จะสงบขึ้นเรื่อย ๆ 
                เราจะต้องปรับลมหายใจให้ไหลผ่านเข้าออกฐานอารมณ์น้อยลงเช่นนี้เรื่อย ๆ  ทำไปจนกระทั่งเห็นว่าลมมันนิ่งไม่เข้าไม่ออก และสุดท้ายได้เลือนหายไปจากความรู้สึก เมื่อมาถึงจุดนี้ ความนึกคิดที่เคยเกิดขึ้นก็จะเลือนหายตามลมหายใจ ไม่สามารถรบกวนจิตให้มาร่วมนึกคิดตามได้อีก ภาวะเช่นนี้ก็คือจิตสงบลงในระดับ  ปฐมฌาน  แล้ว ให้เราดำรงภาวะเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ
                เมื่อลมหายใจหายไปจากความรู้สึก เราไม่ต้องตกใจ ว่าลมเราหมดเราจะตายแล้ว เราไม่ต้องกลัว มันเป็นเพียงลมหยาบที่ดับไป ลมหายใจที่ละเอียดมันยังมีอยู่ และไหลเข้าออกได้ทุกรูขุมขนของร่างกาย และในภาวะเช่นนี้ร่างกายไม่จำเป็นต้องใช้ลมมากเพื่อเผาผลาญพลังงาน
                ก่อนที่ลมหายใจจะดับลงไปเราอาจจะเกิดความรู้สึกเสียวตึงที่ฐานอารมณ์ เราไม่ต้องตกใจ มันเป็นอาการของจิตที่เคลื่อนตัวเพื่อรวมตัว ปรับระดับจิตให้สงบลง
                การที่ลมหายใจเลือนหายไป หรือดับลงไปจากความรู้สึกสัมผัส เป็นเพราะขณะนี้จิตเราได้เข้ามาสู่ภาวะที่ละเอียดกว่าลมหายใจ ลมหายใจจะไม่อยู่ในระดับความละเอียดของจิตเราในขณะนี้ เพราะจิตเรากำลังอยู่ที่ขอบนอกของอะตอมที่อยู่ที่ฐานอารมณ์ มันเป็นภาวะที่ละเอียดกว่าลมหายใจ จิตเราจึงไม่ถูกรบกวนแม้ด้วยลมหายใจ และขณะที่จิตเรารวมตัวเข้ามา หากมีอาการเหมือนวูบเข้าไป หรือ เหมือนตกลงไปยังที่ใดที่หนึ่ง หรือ เหมือนกับว่า รอบตัวของเราค่อย ๆ  มืดลง ๆ เงียบลง ๆ เราไม่ต้องตกใจ เป็นเพราะจิตมันรวมตัวเข้ามาที่ขอบอะตอม และเลยขอบอะตอมเข้ามาแล้ว
                ให้เราดำรงภาวะของปฐมฌานต่อไป เมื่อเราดำรงปฐมฌานไปได้สักระยะหนึ่งแล้ว จิตจะเข้าสู่ความสงบที่ลึกขึ้น พลังที่ละเอียดกว่าลมละเอียดจะปรากฎแก่เรา เมื่อจิตเราเข้ามาถึงพลังงานชั้นที่สองภายในอะตอม
                เมื่อจิตเราเข้ามาถึงพลังงานชั้นที่สองภายในอะตอมแล้ว สิ่งที่เราจะพบก็คือคลื่นแรงโน้มถ่วง (Gravity force)   ที่ส่งออกมาจากศูนย์กลางอะตอม  คือ นิวเคลียส (Nucleus)  จะเป็นแรงที่มีลักษณะเป็นระลอกคลื่น หนัก เบา หนัก เบา สลับกันไป เราจะสัมผัสได้จากความรู้สึกที่แรงนี้กระทบกับจิตเรา
                คลื่นแรงโน้มถ่วงจากนิวเคลียสนี้ จะมีผลทำให้สภาพการรับรู้ความรู้สึกของเราถูกบิดเบือนและเบี่ยงเบนไปจากภาวะปกติ คือ ในภาวะปกติเราจะรู้ตัวทั่วพร้อมว่าตัวตนของเรานั่งอยู่ตรงนี้ที่นี่ ในอริยาบถอย่างนี้ มีขอบเขตของร่างกายเท่านี้ เมื่อจิตเราอยู่ในคลื่นแรงโน้มถ่วงเช่นนี้แล้ว สภาพการรับรู้ที่ถูกบิดเบือนไปจะทำให้เรารู้สึกว่าร่างกายตัวตนของเรามีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ โดยเราจะพบอาการต่าง ๆ  ต่อไปนี้ เช่น ตัวเราโยกคลอนไปมา ตัวเราหายไป ตัวเราขยายใหญ่โตขึ้น ตัวเราหดตัวมีขนาดเล็กลง หัวเรายืดสูงขึ้นไป มือหายไป ขาหายไป มือยาวยืดออกไป หน้าตาเหมือนบิดเบี้ยว นั่งหันหน้ากลับทิศที่เรานั่งตอนแรก ขนลุกขนชัน  รู้สึกซาบซ่านซู่ซ่าไปทั้งตัว รู้สึกเบิกบานมีน้ำตาไหลโดยไร้เหตุผล นั่งยิ้มอยู่คนเดียวนาน ๆ  รู้สึกฮึกเหิมกล้าหาญ จิตใจพองโต อิ่มอกอิ่มใจไม่หิวไม่กระหาย ซึ่งมีสารพัดอาการ อาการอย่างนี้เรียกว่า ปีติ  เป็นภาวะที่จิตสงบเข้ามาถึง  ทุติยฌาน แล้ว และเป็นอาการบอกถึงว่าจิตเราจะสงบลึกเข้าไปอีกเมื่อผ่านปีติไป เมื่อเกิดปีติขึ้นเราไม่ควรดีใจเสียใจกับอาการที่เกิดขึ้น มันจะเกิดอะไรจะเป็นอย่างไรก็ให้พอแค่นั้น ไม่ต้องไปสนใจมัน หน้าที่ของเราคือ เอาจิตรวมอยู่ที่ฐานอารมณ์และดูอาการของปีติไป จนกว่าอาการของปีติจะจางคลายลงไปเมื่ออาการของปีติจางคลายลงนั่นคือจิตเราเข้าสู่ระดับพลังงานของอะตอมลึกขึ้นจนพ้นรัศมีของคลื่นแรงโน้มถ่วงจากนิวเคลียสเข้ามาแล้ว และกำลังเคลื่อนตัวเข้ามายังชั้นพลังงานที่ลึกกว่าต่อไป
                หลังจากปีติหมดไปแล้วจิตเราจะสงบนิ่งขึ้น ละเอียดนิ่งขึ้น ละเอียดขึ้นและไม่มีอาการอะไรเกิดขึ้นกับเราอีก ให้เราดำรงภาวะเช่นนี้และรวมจิตอยู่กับฐานอารมณ์ต่อไป เมื่อทำไปสักระยะหนึ่ง จนจิตเราเข้ามาถึงพลังงานชั้นที่สามภายในอะตอม พลังที่จะได้พบก็คือ แสงสว่างจะค่อย ๆ  ปรากฏแก่เราเป็นแสงสว่างเรือง ๆ  จะไม่สว่างมาก อาจเห็นเป็นแสงออกสีเหลืองอ่อนเรืองแสงอยู่ไกล ๆ เมื่อเราดำดิ่งความรู้สึกลงไป ความสว่างของแสงจะมากขึ้น เราอาจเห็นแสงสีต่าง ๆ  ที่เป็นเฉดสีที่อยู่ในสเปคตรัม (Spectrum)  ของแสงพระอาทิตย์ คือ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง ส้ม แดง ซึ่งแสงสีเหล่านี้เกิดขึ้นจาก จิตขอเราไปปรุงแต่งอารมณ์ต่าง ๆ  เก็บเป็นพลังงานค้างไว้ในธาตุรู้ภายในอะตอม และแสงสีเหล่านี้บอกได้ถึงสุขภาพร่างกายของเราด้วย คือ หากร่างกายของเรามีสุขภาพแข็งแรงเป็นปกติดี แสงสว่างที่มีมากที่สุดที่เราจะได้พบก็คือ แสงสีเหลือง และแสงสีเหลืองนี้เป็นแสงของอารมณ์เมตตาด้วย นั่นคือหากเราอยากมีสุขภาพแข็งแรงอายุยืน ควรอยู่กับความเมตตาให้มาก   ส่วนความหมายของแสงสีอื่นนั้นจะยังไม่ขออธิบาย ซึ่งแสงเหล่านี้มันส่องออกมากเป็นแสงรัศมีรอบกายเราด้วย ผู้ที่มีจิตละเอียดจะสามารถเห็นได้ และสามารถรู้ว่าเราเป็นคนมีนิสัยใจคออย่างไร  กำลังอยู่ในอารมณ์อะไร และสุขภาพร่างกายเป็นอย่างไร  เมื่อเราเห็นแสงสีเหล่านี้แล้ว เราก็ดูมันเฉย ๆ  รวมจิตอยู่กับฐานอารมณ์ต่อ จนกว่ามันจะหายไป แสงสีเหล่านี้จะเป็นแสงที่อยู่ขอบนอกของพลังชั้นที่สาม ห่อหุ้มพลังอีกกลุ่มหนึ่งไว้ เมื่อจิตเราเข้าสู่ระดับลึกกว่าเดิมเราก็จะพบ  คือ กลุ่มพลังของธาตุรู้ หรือ วิญญาณธาตุ ซึ่งสถิตย์อยู่ในระดับพลังงานชั้นในของชั้นที่สามนี้
                สภาพเดิมอย่างหนึ่งของธาตุรู้ที่จะปรากฏแก่เราคือ เป็นกลุ่มพลังงานแสงสว่างสีขาวบริสุทธิ์ เมื่อเรามาถึงแสงสว่างสีขาวนี้ เราจะเกิดความสุขอันละเอียดมาก จิตจะเบา กายจะเบา รู้สึกร่างกายจิตใจละเอียดอ่อนนุ่มนวลสะอาดใสบริสุทธิ์  ความนึกคิด ความเจ็บความปวดไม่รู้มันละลายหายไปไหนหมด ภาวะเช่นนี้ เรียกว่า  สุข  เป็นความสุขที่ละเอียดสุขุม  เป็นภาวะจิตที่สงบเข้ามาถึง  ตติยฌาน  แล้ว  การที่พระพุทธองค์ท่านตรัสว่า สุขอื่นจะเท่ากับความสงบไม่มีเมื่อเรามาถึงตรงนี้แล้วเราจะเคารพในพุทธภาษิตนี้จริง ๆ เพราะความสุขใด ๆ ที่ผ่านมากในชีวิตของเราจะไม่สามารถมาเทียบเคียงได้ อยู่กับตติยฌานนี้เราจะนั่งสมาธิได้นานมาก ไม่อยากออกจากสมาธิเลยเพราะมีความสุขมาก และเมื่อเราอยู่กับแสงสว่างนี้นาน ๆ  โดยจิตยังไม่เข้าสู่ความสงบที่ลึกกว่าต่อไป ความสว่างมันจะมากขึ้น เมื่อความสว่างมากจนถึงระดับหนึ่ง จิตของเราจะมีกำลังของธาตุรู้ที่มากขึ้น พอถึงจุดนี้ ภาพนิมิตมันจะปรากฏขึ้นแก่เรา ภาพนิมิตนี้เกิดขึ้นด้วยเหตุ 3 ประการ คือ

                1. เกิดจากสัญญาภาพที่เป็นอดีตที่เก็บไว้ที่สมอง

                  ระดับพลังงานภายในอะตอมที่อยู่ในระดับพลังเดียวกัน มันสามารถเชื่อมต่อพลัง
กันได้ เมื่อจิตเรามาเข้าถึงแสงสว่างของธาตุรู้ที่ฐานอารมณ์ แสงจากธาตุรู้จากฐานอื่น 
เช่น ฐานสมอง ฐานใจ ที่เป็นที่เก็บภาพต่าง ๆ  ไว้มันสามารถไหลเข้ามาหากันได้ 
ภาพเหล่านี้จะมีลักษณะเหมือนกับ ฟิล์มสไลด์ หรือ ฟิล์มภาพยนตร์ แสงจากธาตุรู้ก็เหมือนกับ
แสงจากเครื่องฉายภาพ ตามปกติเมื่อเรานึกคิดถึงสิ่งใด ภาพในใจในความคิดมันก็ปรากฏขึ้นอยู่แล้ว 
แต่ในขณะที่เราอยู่ในตติยฌานนี้ แสงมันมากและจิตเราอยู่ในภาวะจิตละเอียดเท่ากับแสงสว่าง 
เมื่อจิตเราข้องติดหรือประทับใจในภาพใด ๆ  ก่อนหน้าที่เรามานั่งทำสมาธิ และยังคลายความยึดติด
ไม่ได้ ภาพเหล่านี้มันจะค่อย ๆ  ไหลเข้ามา เมื่อเข้ามาแล้วก็เหมือนกับ ฟิล์มมาเจอกับแสง
จากเครื่องฉาย ก็จะฉายเป็นภาพนิมิตให้เราได้เห็นทันที

                2.  เกิดจากการนึกจินตนาการปรุงแต่ง

                เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นได้  2 ลักษณะ
                เมื่อจิตเข้าถึงแสงสว่างแล้ว หลงเพลินกับแสงนึกปรุงแสงรวมแสงเป็นภาพต่าง ๆ  ขึ้น
                อีกกรณีหนึ่ง เป็นกระบวนการที่เกิดต่อเนื่องจากนิมิตที่เกิดจากสัญญา และเป็นกรณีที่เกิด
ขึ้นบ่อย คือ เมื่อเห็นภาพนิมิตขึ้นมาแล้วก็ปรุงแต่งภาพนิมิตที่เห็นนั้นให้เป็นไปตามที่จิตต้องการเห็น 
 เช่น ย่อ ขยาย เพิ่มจำนวน เพิ่มความใสสะอาด เป็นต้น3. เกิดจากการส่งจิตไปรู้สิ่งต่าง ๆ
                  เมื่อจิตเรามาเข้าถึงแสงสว่างของธาตุรู้ภายในตัวเรา จิตเราจะมีกำลังมาก 
ธาตุรู้เราก็มีกำลังมาก  เราสามารถเชื่อมโยงแสงสว่างจากธาตุรู้ที่อยู่ภายนอกตังเราได้ 
เพราะเป็นพลังเดียวกัน และธาตุรู้นี้เป็นสิ่งสากล เราสามารถใช้กำลังจิต กำลังของธาตุรู้
ที่มีความเข้มข้นนี้ให้ทำงานให้เต็มที่  โดยการส่งออกไปหาสิ่งต่าง ๆ ที่เราอยากรู้อยากเห็น 
สามารถขยายขอบเขตความสามารถในการรู้ของจิตเราได้ คือ หากอยากรู้อยากเห็นสิ่งใด 
กำหนดนึกไป ภาพสิ่งที่เราอยากเห็นจะมาปรากฏ เราจะเหมือนมีจอโทรทัศน์ในตัวเราเลยทีเดียว,
สามารถมองเห็นวัตถุที่อยู่ไกลตัวเราได้, สามารถรู้ความรู้สึกนึกคิดของคนอื่น สัตว์อื่นได้
มองทะลุวัตถุได้, เห็นอดีต อนาคต, เห็นภพภูมิอื่น เป็นต้น

                ภาพนิมิตทั้งหลายนี้ บางทีก็เป็นจริง บางทีก็ไม่เป็นจริง ตามความปรุงแต่ง
และบงการของอนุสัยกิเลสภายในใจของเรา หากเรายังอยู่กับภาพนิมิตอยู่ 
จิตก็ยังไม่เข้าถึงความสงบอย่างที่สุด และตัวนิมิตนี้เองที่อาจจะมาทำให้จิตถอนตัวจากความสงบ
ได้ด้วย การฝึกจิตจะไม่ก้าวหน้า ดังนั้น  หากเราต้องการความสงบกว่าเดิมเราต้องละจากภาพนิมิต
จากแสงสว่าง เพื่อเข้าสู่ความสงบที่ลึกกว่าต่อไป

                วิธีการที่จะทำให้ภาพนิมิตหายไปคือ เราไม่ต้องสนใจภาพที่มันเกิดขึ้น 
มันจะเกิดภาพหรือเสียงนิมิตอะไร จิตเราไม่ต้องเคลื่อนไปตามสิ่งที่เรารู้ ไม่ส่งจิตออกตามไปรู้เห็น
สิ่งถูกรู้ ให้กลับเข้ามาดูที่ผู้เห็นผู้รู้แทน ภาพนิมิตก็จะหายไป เหลือแต่ความสว่างเช่นเดิม  
จากนั้นเรารวมจิตให้อยู่กับฐานอารมณ์ต่อไปเพื่อเข้าสู่ความสงบที่ลึกขึ้น ระดับความสงบที่ลึกกว่า
ความสุขของตติยฌาน  ที่จิตเราละแสงสว่างได้แล้ว ภาวะที่เราจะพบก็คือ เป็นสภาพเดิม
ที่อยู่ลึกที่สุดของธาตุรู้  คือ  ความว่าง  อาการก่อนที่เราจะเข้าสู่ความว่างนี้ 
ที่อาจเกิดขึ้นได้ก็คือ เมื่อรวมจิตให้อยู่กับฐานอารมณ์แล้ว จะเกิดอาการวูบ เหมือนเราตกลงไปยังที่ใด
ที่หนึ่ง ความรู้ตัวขณะตกลงมาจะมีไม่มาก แต่จะค่อย ๆ  รู้สึกตัวขึ้นเมื่อตกลงมาถึง ณ ที่นี้แล้วหรือ 
ความรู้สึกของเราเหมือนเคลื่อนผ่านกลุ่มแสงสีขาวเข้าไป แสงจะลดลงไปเรื่อย ๆ จนถึง ณ ที่หนึ่ง 
ณ ที่นี้ไม่มีแสงสว่าง ไม่มีสี ไม่มีภาพนิมิต เป็นที่เงียบสงบมาก ว่างเปล่า รู้สึกเหมือนมีเพียงตัวเรา
อยู่คนเดียวในโลก ทุกสิ่งไร้การเคลื่อนไหว เป็นภาวะที่สงบนิ่งที่ลึกและกว้างไกลมาก 
รู้สึกจิตมีกำลังรวมเป็นหนึ่งแน่นหนา  ไม่เป็นภาวะสุข  หรือ  ทุกข์   เป็นแต่กลาง ๆ  เฉยอยู่  
ภาวะที่จิตรวมเป็นหนึ่งกับธาตุรู้เช่นนี้ เรียกว่า  เอกัคคตารมณ์ (เอกัคคตารมณ์-ระดับฌาน)   
ภาวะเป็นกลาง เรียกว่า อุเบกขา  เมื่อเรามาถึงตรงนี้ เป็นภาวะที่จิตสงบเข้ามาถึง  
จตุตถฌาน  และจิตได้เข้ามาถึงจุดศูนย์กลางของอะตอม คือ นิวเคลียสแล้ว 
เราก็อยู่กับความสงบระดับนี้ไปเรื่อย  ๆ

                ข้อดี  ของการทำจิตให้สงบที่ฐานอารมณ์นี้ จะเหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มฝึกสมาธิ
เพราะเป็นฐานที่อยู่ไม่ลึกเกินไป หาง่าย ไม่ลำบาก จิตก็รวมตัวกันง่าย การฝึกให้เข้าถึงปฐมฌาน
จะทำได้ง่ายมาก หากเราเริ่มฝึกกับฐานที่อยู่ลึกในร่างกายแล้ว จิตมันจะรวมตัวกันยาก
และสงบช้า

                แต่ข้อด้อยของการฝึกจิตให้สงบที่ฐานอารมณ์นี้ ก็คือการเป็นฐานที่อยู่ข้างนอกเกินไป
จะง่ายต่อการถูกรบกวนจากสิ่งเร้า เช่น ลมหายใจ เสียง เป็นต้น  ทำให้อยู่กับความสงบได้ไม่นาน 
และการฝึกจิตจะให้เข้าถึงความสงบระดับลึกเช่น ตติยฌาน จตุตถฌาน จะใช้เวลามากและยาก  
ดังนั้นหากเราต้องการให้จิตรวมเป็นหนึ่งกับธาตุรู้ได้อย่างหนักแน่นมั่นคง และอยู่กับความสงบได้นาน 
เราต้องเอาจิตไปรวมกับฐานที่อยู่ลึกกว่า เป็นฐานที่อยู่ในร่างกาย ฐานนี้ก็คือ  ฐานใจ
สมาธิทำให้ให้สงบ /  การทำจิตให้สงบ ที่ฐานใจ
วิธีการฝึก
วิธีที่ 1
                ก่อนที่เราจะฝึกควรหาตำแหน่งของใจก่อน ซึ่งก็อยู่ที่หัวใจตรงหน้าอกด้านซ้ายมือ
เข้าไปข้างใน เมื่อใช้มือทาบที่หน้าอกด้านซ้ายจะรู้สึกหัวใจเต้นที่ตรงนี้ ตำแหน่งนี้คือฐานใจ 
เป็นฐานที่เราจะใช้ฝึก เมื่อรู้ตำแหน่งแล้ว ให้คลายมือออกจากหน้าอก ลองหลับตา 
แล้วใช้ความรู้สึกหาตำแหน่งของใจดู กำหนดตำแหน่งให้แม่นยำให้ตรงกับที่เราใช้มือทาบไว้

                เมื่อรู้ตำแหน่งดีแล้ว จากนั้นก็เริ่มขั้นตอนต่อไป คือ การคลายอารมณ์ 
ก็คลายอารมณ์ตามวิธีการใดวิธีการหนึ่งที่ได้กล่าวมาแล้ว เมื่อคลายอารมณ์ไปจนเห็นว่า
จิตไม่มีหน้าที่ไม่รับรู้อารมณ์ รู้สึกเหมือนง่วงนอนแล้ว เราก็ปรับภาวะจิตใจใหม่ กระตุ้นให้จิตมีหน้าที่ 
เพื่อไม่ให้ตกภวังค์ไป โดยการนึกมาที่ลมหายใจเข้าออก ปรับการหายใจให้เป็นปกติ 
ไม่สั้นไม่ยาวเกินไป พอเหมาะพอดีตามอัธยาศัยของแต่ละคน โดยให้มีสติหายใจเข้าก็รู้ 
หายใจออกก็รู้ ไม่ต้องใช้คำบริกรรมอะไร แล้วหาจุดภายในโพรงจมูกที่ลมหายใจเข้าออก 
กระทบมากที่สุด คือ ฐานอารมณ์

                เมื่อหาพบแล้ว จากนั้น รวบรวมความรู้สึกมาวางทับที่จุดนี้เบา ๆ  วางให้เบาที่สุด 
วางทับลงจนความรู้สึกแนบสนิทเป็นหนึ่งเดียวกันกับฐานอารมณ์ จากนั้นให้เราค่อย ๆ 
ปรับลมหายใจเข้าออกให้ไหลผ่านฐานอารมณ์น้อยลง สั้นลงละเอียดขึ้นไปเรื่อย ๆ ทำไป
จนกระทั่งเห็นว่าลมมันนิ่งไม่เข้าไม่ออก เลือนหายไปจากความรู้สึก ความนึกคิดที่เคยเกิดขึ้น
เบาบางลง ไม่สามารถรบกวนจิตให้มาร่วมนึกคิดตามได้อีก คือจิตสงบลงในระดับปฐมฌาน

                เมื่อเกิดความสงบที่ฐานอารมณ์แล้ว จากนั้นให้ค่อย ๆ  เลื่อนความรู้สึกจากฐานอารมณ์ 
ลงมาที่ฐานใจอย่างช้า ๆ  เมื่อมาถึงฐานใจให้วางความรู้สึกทับลงที่ฐานใจเบา ๆ  วางลงไป
จนความรู้สึกแนบแน่นสนิทเป็นหนึ่งเดียวกับฐานใจ และคอยประคองความรู้สึกให้หยุดนิ่ง
อยู่กับฐานใจอย่างเดียว

                ต่อไป เพื่อให้จิตรวมกับใจได้สนิทยิ่งขึ้น ให้เราค่อย ๆ  จมความรู้สึก
ให้เคลื่อนตัวลึกเข้าไปภายในหัวใจช้า ๆ  ให้ลึกกว่าตำแหน่งที่เราวางความรู้สึกไว้ตอนแรก 
แล้วดำรงความรู้สึกนิ่งที่ฐานใจไว้เช่นนั้นไปเรื่อย ๆ  เมื่อมาถึงขั้นตอนนี้เราจะรู้สึกที่หัวใจ
มีเกิดแรงกดทับเพิ่มขึ้น จะรู้สึกอึดอัดที่หัวใจ เพราะความรู้สึกที่กดลงไปในใจ
จะทำให้ความดันของลมที่อยู่ในหัวใจเพิ่มขึ้น รออีกสักครู่หนึ่งลมมันจะพยายามดันออกมา 
และเราจะรู้สึก มีความร้อนเกิดขึ้นที่หัวใจ และความร้อนนั้นจะค่อย ๆ ไหลออกมาจากหัวใจ 
และตามผิวหนังด้วย เราก็ปล่อยให้มันไหลออกมา เมื่อลมหยาบในหัวใจหมดแล้ว 
ความร้อนก็จะลดลง ตัวเราจะเย็นลง ลมในหัวใจจะนิ่งขึ้นเรื่อย ๆ  อาการที่หัวใจอึดอัด 
และลมร้อนออกมาจากใจนี้ บางคนก็เกิดมากจนเหงื่อออก บางคนก็เกิดน้อย

                เมื่อลมในหัวใจนิ่งแล้ว การเต้นของหัวใจก็จะเบาลง ช้าลง จนแทบไม่รู้สึก 
เมื่อเกิดภาวะเช่นนี้ขึ้นมาเราไม่ต้องตกใจว่าเราจะตาย ภาวะเช่นนี้แสดงว่าจิตเราเริ่มสงบลง
ระดับปฐมฌานที่ฐานใจแล้ว ให้เราดำรงภาวะเช่นนี้ต่อไป

วิธีที่  2
                หลังจากรู้ตำแหน่งของใจ และคลายอารมณ์ไปพอควรแล้ว เราก็ปรับภาวะจิตใหม่ 
กระตุ้นให้จิตมีหน้าที่ เพื่อไม่ให้ตกภวังค์ไป โดยการนึกมาที่ลมหายใจเข้าออก ปรับการหายใจ
ให้เป็นปกติไม่สั้นไม่ยาวเกินไป โดยให้มีสติ หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ ให้เราหายใจ
แบบเป็นปกติไปสักระยะหนึ่งจนจิตตื่น สบายดีแล้ว

                จากนั้น ในจังหวะที่หายใจเข้าให้รีบนึกไปที่หัวใจ แล้วคงความรู้สึกให้นิ่งอยู่ที่หัวใจ
จนหมดลมหายใจเข้า เมื่อหยุดหายใจเข้าแล้วให้กลั้นลมไว้นิดหนึ่งก่อนจะหายใจออกมา
และความรู้สึกก็ยังคงนิ่งอยู่ที่หัวใจ เมื่อหายใจออกมาให้ใช้ความรู้สึกออกแรงกดบีบลงที่หัวใจเบา ๆ 
 เพื่อไล่ลมหยาบในหัวใจออกมา ขณะที่ลมออกมาจากหัวใจเราจะรู้สึกร้อนวูบวาบที่หัวใจ 
 หน้าอก ใบหน้า และตามผิวกาย พอหมดลมหายใจออกก็ถอนความรู้สึกออกมาจากหัวใจ 
เพื่อเริ่มต้นทำใหม่ เมื่อหายใจเข้าก็ทำดังที่กล่าวไปแล้วอีก ให้เราทำเช่นนี้วนไปเรื่อยๆ 
สักระยะหนึ่งจนเห็นว่าความร้อนตามที่ต่าง ๆ หมดไป และลมหายใจละเอียดขึ้น 
แสดงว่าลมหยาบในหัวใจหมดไปแล้ว

                จากนั้น ค่อย ๆ ประคองความรู้สึกมาไว้ที่หัวใจ วางความรู้สึกทับลงที่ฐานใจเบา ๆ  
จนความรู้สึกแนบแน่นสนิทเป็นหนึ่งเดียวกับฐานใจ และคอยประคองความรู้สึกให้หยุดนิ่ง
อยู่กับฐานใจอย่างเดียวไม่เคลื่อนไปตามลมเข้าออก ทำไปพร้อมกับปรับลมที่ผ่านเข้าออก
หัวใจให้เบาลงเรื่อย ๆ  เมื่อลมในหัวใจนิ่งแล้ว การเต้นของหัวใจก็จะเบาลงช้าลง 
จนแทบไม่รู้สึก และลมหายใจก็จะหายไปจากความรู้สึก ภาวะเช่นนี้แสดงว่า จิตเราเริ่มสงบลง
ระดับปฐมฌานที่ฐานใจแล้ว และเพื่อให้จิตรวมกับใจได้สนิทยิ่งขึ้นให้เราค่อย ๆ  
จมความรู้สึกให้เคลื่อนตัวลึกเข้าไปภายในหัวใจช้า ๆ  ให้ลึกกว่าตำแหน่งที่เราวางความรู้สึกไว้
ตอนแรก แล้วดำรงความรู้สึกสงบนิ่งที่ฐานใจไว้เช่นนี้ไปเรื่อย ๆ

                ระดับของความสงบตลอดจนอาการต่าง ๆ  ที่จะเกิดขึ้นที่ฐานใจ
ก็จะเหมือนกับที่ฐานอารมณ์ แต่จะแนบแน่นอยู่ได้นานกว่า อาการของฌานระดับลึก
ก็จะชัดเจนมากกว่า ดังนั้น หากเราต้องการเรียนรู้เรื่องฌานให้เข้าใจดี จึงควรฝึกทำจิตใจ
ให้สงบเป็นหนึ่งกับธาตุรู้ที่ฐานใจ

                สำหรับวิธีการที่เราจะออกจากความสงบ เมื่อเราเห็นว่านั่งสมาธิเพียงพอแล้ว 
ก็คือ เราต้องนึกกำหนดที่จะออกมาก่อน แล้วนึกถึงลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าออกให้ยาวขึ้น
ให้จิตตามลมหายใจเข้าออก เมื่อทำไปได้สักครู่ จิตจะค่อย ๆ  ถอนตัวออกมาเองเป็นลำดับ ๆ  ไป 
จากภาวะละเอียดมาหาหยาบ จนมาสู่ภาวะปกติ

                คุณประโยชน์ของการฝึกจิตให้สงบ ตามวิธีการได้บรรยายมา คือ ความสงบ
ทำให้จิตมีพลังเพิ่มขึ้น ยิ่งจิตมีความสงบมากพลังจิตก็เพิ่มมาก ทำให้เราทราบถึง
ระดับพลังง่านของจิตว่ามี สี่ระดับใหญ่ แต่เรายังไม่รู้ว่า จิตจะต้องอยู่ที่ระดับพลังระดับไหน 
และโดยกระบวนการอย่างไร ถึงจะเป็นอิสระหลุดพ้นจากทุกข์อย่างแท้จริง ภาวะของฌาน
ทั้งสี่ระดับ คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน คือระดับพลังที่ยังไม่ใช่ภาวะ
ที่พ้นจากทุกข์ แต่เป็นภาวะข่มทุกข์โดยใช้พลังจิตข่ม เมื่อเราเข้าไปอยู่ทุกข์ไม่เกิด 
แต่พอออกมาทุกข์ก็ยังคงอยู่ แม้ไม่ใช่ภาวะที่พ้นจากทุกข์แต่เราสามารถอาศัยภาวะ
ของฌานนี้เป็นเครื่องมือเพื่อให้พ้นจากทุกข์ ก็คือ กระบวนการที่เราหมายถึง และจะกล่าวต่อไป 
ซึ่งหากเราไม่รู้ไม่เข้าใจกระบวนการเพื่อให้พ้นทุกข์ ฌานนี้เองที่จะเป็นตัวขัดขวาง
ไม่ให้เราถึงซึ่งความพ้นทุกข์

                ในอดีตที่ผ่านมาในสมัยพุทธกาลนั้นมีเจ้าลัทธิศาสนามากมาย ที่ประกาศทิฎฐิ
ความเชื่อ ความรู้ที่ตนเองเชื่อถือ และบรรลุว่าเป็นสิ่งที่เป็นที่สุดของทุกสิ่ง เที่ยงแท้ 
ควรยึดถือเป็นทางเดินของชีวิต ซึ่งพระพุทธองค์จำแนกออกได้ถึง  62  ทิฎฐิ และท่าน
จัดเป็นมิจฉาทิฎฐิทั้งสิ้น ซึ่งก็มีพวกที่กล่าวถึงระดับของฌานที่ตนบรรลุว่าเป็นที่สุด
ของทุกสิ่งอยู่คือ  พวกทิฎฐิธัมมนิพพาน 5 เป็นพวกเห็นว่าสภาพบางอย่างเป็นนิพพาน 
ในปัจจุบัน ได้แก่ พวกที่ไม่รู้จักฌาน ก็ยึดถือว่า การเพียบพร้อมด้วยกามคุณห้าคือ นิพพาน 
พวกที่บรรลุเพียงปฐมฌาน ก็ถือว่า ปฐมฌานคือนิพพาน พวกที่บรรลุเพียงทุติยฌาน ก็ถือว่า 
ทุติยฌานคือนิพพาน พวกที่บรรลุเพียงตติยฌาน ก็ถือว่า ตติยฌานคือนิพพาน 
พวกที่บรรลุเพียงจตุตถฌาน ก็ถือว่า จตุตถฌานคือนิพพาน  สัมมาทิฎฐิในพุทธศาสนานั้น
อยู่นอกเหนือทิฎฐิเหล่านี้

                เมื่อมาถึงปัจจุบัน สำหรับผู้ที่เคยได้ฝึกฝนทางจิตมาบ่ง และมีประสบการณ์ทางจิต
เกิดขึ้น จึงควรได้พิจารณาถึงภูมิธรรมของตนเองที่ได้เข้าถึงจากการฝึกปฏิบัติที่ผ่านมา 
โดยเฉพาะผู้ที่ฝึกทำจิตให้สงบนิ่งที่ฐานต่าง ๆ  ว่า ภาวะของจิตที่เกิดขึ้นกับเรา และอาจเข้าใจว่า 
เป็นการได้เห็นธรรม จะทำให้พ้นทุกข์ได้นั้น เป็นความจริงหรือไม่ หรือแท้จริงภูมิจิตของเรา
ยังอยู่กับอารมณ์ของฌานอยู่ เพราะภาวะของตติยฌานกับจตุตถฌาน นั้นง่ายต่อการ
ที่จะหลงเข้าไปยึดถือว่าเป็นธรรม เป็นนิพพาน ซึ่งมีข้อควรพิจารณา ดังนี้

                กรณีที่หนึ่ง

                ในตติยฌาน แสงสีเหลืองที่ปรากฏ แสงนี้ได้เรียกกันว่า เป็นความสว่าง แสงสีขาวที่ปรากฏได้เรียกกันว่า เป็นความสะอาด เป็นความบริสุทธิ์ ในจตุตถฌาน ความว่างที่ปรากฏก็เรียกกันว่าเป็นความสงบ จึงมีการสรุปกันว่า ธรรมะนั้น คือ ความสว่าง สะอาด สงบ ซึ่งธรรมะนั้นไม่ใช่ภาวะเหล่านี้ สภาวธรรมนั้นเป็นภาวะจิตที่ไม่ยึดเกาะ ปรุงแต่งพลังงานใด ๆ  ทั้งเป็นอิสระจากขันธ์ห้า ความสว่าง ความสะอาด ความสงบ เป็นพลังงานที่อยู่ภายในอะตอม เป็นอาการของวิญญาณธาตุที่ละเอียด อันเป็นหนึ่งในขันธ์ห้า การที่จิตยังยึดเกาะวิญญาณขันธ์อยู่ แล้วจิตจะหลุดพ้นได้อย่างไร

                กรณีที่สอง

                ในตติยฌาน เมื่อภาพนิมิตเกิดขึ้นโดยเฉพาะภาพที่เราเข้าใจมาก่อนว่าเป็นภาพที่ดี เช่นภาพพระพุทธรูป  พระพุทธองค์ ภาพพระที่เราคิดว่าเป็นพระอรหันต์ ปรากฏขึ้นมา เราก็เข้าใจว่า การเห็นเช่นนี้คือ การเห็นธรรม เห็นนิพพาน ความเข้าใจเช่นนี้ยังห่างจากความจริงมากนัก เพราะจิตที่เข้าถึงสภาวธรรมนั้น เป็นจิตที่ไม่ยึดเกาะปรุงแต่งพลังงานใด ๆ ทั้งเป็นอิสระจากขันธ์ห้า ภาพนิมิตเหล่านี้แท้จริงก็คือ พลังงานแสง พลังงานแสงก็คือ อนุภาคโฟตอน (Photon)  ที่อยู่ในวงโคจรในอะตอม การที่จิตยังยึดเกาะอนุภาคโฟตอนอยู่ แล้วจิตจะหลุดพ้นได้อย่างไร

                กรณีที่สาม

                ในตติยฌาน ธาตุรู้จะมีกำลังเต็มที่ ทำงานเต็มที่ เราสามารถขยายขอบเขต
ความสามารถในการรู้สิ่งต่าง ๆ  ของจิตเราได้หากอยากรู้อยากเห็นสิ่งใด  กำหนดนึกไป 
ภาพสิ่งที่เราอยากเห็นจะมาปรากฏ สามารถรู้ความรู้สึกนึกคิดของคนอื่น สัตว์อื่น รู้อดีต 
อนาคต รู้เห็นภพภูมิอื่น ภาวะที่เกิดขึ้นเช่นนี้ เป็นเพราะจิตรวมกับธาตุรู้ตลอดเวลา
จะทำให้เราเข้าใจว่า จิต คือ ผู้รู้ ซึ่งจิตนั้นไม่ใช่ผู้รู้ แต่มาอาศัยผู้รู้อยู่   ผู้รู้นั้นคือ 
 ธาตุรู้(วิญญาณธาตุ)  หากเรายังเข้าใจว่า จิตคือผู้รู้แล้ว เราจะไม่รู้เลยว่า 
จิตที่หลุดพ้นจากธาตุรู้เป็นอย่างไร

                กรณีที่สี่

                การฝึกจิตให้รวมเป็นหนึ่งกับธาตุรู้ที่ใจแล้วเกิดภาวะของจิตเป็นความสว่าง 
สะอาด สงบ จะทำให้เราสรุปว่า การได้ธรรมะได้กันที่ใจและจะเกิดความเข้าใจว่า จิตกับใจ 
คือสิ่งเดียวกัน เพราะวิธีการฝึกอย่างนี้เราต้องทำจิตให้อยู่กับใจตลอดเวลา จึงเป็นไปไม่ได้
ที่จิตกับใจจะแยกจากกัน และโดยปกติแล้ว ใจก็มีอนุสัยกิเลส รัก ชัง ส่งแรงตัณหา
ไปร้อยรัดจิตอยู่แล้ว ดังนั้น หากฝึกจิตเช่นนี้ต่อไปเราจะไม่เห็นความแตกต่างระหว่าง 
จิตกับใจ และไม่ได้ธรรมะที่แท้จริง การจะได้ธรรมะนั้นจิตต้องหลุดพ้นออกจากใจ
ที่เป็นอายตนะ เป็นมโนวิญญาณขันธ์ก่อน

                กรณีที่ห้า

                ก่อนที่พระพุทธองค์จะตรัสรู้ท่านก็ได้ไปศึกษาการเข้าฌานจากสำนักต่าง ๆ  
หากภาวะฌานระดับใดระดับหนึ่งสามารถนำท่านพ้นทุกข์ จาก เกิด แก่ เจ็บ ตายได้ 
ท่านก็คงไม่ต้องไปค้นหาเพิ่มเติม และพุทธศาสนาก็คงไม่อุบัติขึ้นในโลก และในขณะที่
การฝึกจิตในสมัยนั้นเต็มไปด้วยการฝึกจิต ด้วยวิธีสมถกรรมฐาน ทำจิตให้สงบที่ฐานใดฐานหนึ่ง 
แต่ศาสนาพุทธเป็นศาสนาเดียวที่มีการฝึกจิตด้วยวิธีวิปัสสนากรรมฐาน และวิธีการนี้เอง
ที่แสดงถึงความเป็นพุทธศาสนา เพราะเป็นวิธีที่จะทำให้จิตแยกออกมาจากใจได้

                แต่ถึงอย่างไร การรู้เรื่องของฌานก็เป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์มาก 
หากเรารู้จักการนำมาใช้กับชีวิตประจำวันของเรา เพราะฌานนอกจากจะใช้เพื่อเป็นเครื่องมือ
เพื่อให้ถึงความพ้นทุกข์แล้ว ยังสามารถเป็นที่อยู่ เป็นที่พักของจิตได้อย่างดี 
ไม่ว่าจะเป็นความสงบระดับไหนก็ใช้พักได้ทั้งนั้น เนื่องจากในชีวิตประจำวันของเรา
ต้องเหนื่อยกับการงาน การคิดการนึก  กิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้จะทำให้จิตเสียพลังความสว่าง 
ความว่างไป นอกเหนือจากการนอนหลับแล้ว การทำจิตให้สงบคือทางเลือกของวิธี
เพื่อให้จิตได้พักผ่อน เพื่อให้จิตได้ฟื้นฟูกำลัง เพื่อไปทำกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดประโยชน์
แก่ตนเองและผู้อื่นต่อไป

                ฌานทั้งสี่ระดับดังกล่าวข้างต้น เรียกว่าเป็น รูปฌาน 
 จะมีอยู่สี่ระดับชั้นของความสงบ ระดับของความละเอียดของจิตที่ละเอียดกว่ารูปฌานทั้งสี่ยังมีอีก 
คือ อรูปฌาน  เป็นอารมณ์ของฌานที่เพิกถอนออกจากรูป คือความเป็นตัวตนที่จิตไปเกาะยึดอยู่ 
แต่ในครั้งนี้จะยังไม่ขอกล่าวถึง เพราะลำพังการฝึกรูปฌานทั้งสี่ก็เพียงพอที่จะเป็นพื้นฐาน
เพื่อที่จะฝึกจิตให้ถึงความหลุดพ้นได้แล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น